วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2559

องค์ประกอบของทาน ที่ให้แล้วมีผลมาก (นัยที่ ๑)

องค์ประกอบของทาน ที่ให้แล้วมีผลมาก



ภิกษุทั้งหลาย!  อุบาสิกา ชื่อ นันทมารดา ชาวเมืองเวฬุกัณฑกะนั้น  ถวายทักษิณา
อันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ ในภิกษุสงฆ์มีสารีบุตรและโมคคัลลานะเป็นประมุข
ก็ทักษิณาอันประกอบด้วยองค์ ๖ ประการเป็นอย่างไร.

ภิกษุทั้งหลาย!  องค์ ๓ ของผู้ให้ (ทายก) และ องค์ ๓ ของผู้รับ (ปฏิคาหก).
องค์ ๓ ของผู้ให้เป็นอย่างไร คือ
(๑) ก่อนให้เป็นผู้ดีใจ
(๒) กำลังให้อยู่ย่อมยังจิตให้เลื่อมใส
(๓) ครั้นให้แล้วย่อมปลื้มใจ
นี้แล องค์ ๓ ของผู้ให้.

องค์ ๓ ของผู้รับเป็นอย่างไร คือ
(๑) เป็นผู้ปราศจากราคะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดราคะ
(๒) เป็นผู้ปราศจากโทสะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโทสะ
(๓) เป็นผู้ปราศจากโมหะ หรือปฏิบัติเพื่อกำจัดโมหะ
นี้แล องค์ ๓ ของผู้รับ.
อย่างนี้แล องค์ ๓ ของผู้ให้ และ องค์ ๓ ของผู้รับ.



ภิกษุทั้งหลาย!  ทักษิณาที่ประกอบด้วยองค์ ๖ ประการ
ย่อมมี ด้วยประการอย่างนี้แล การถือประมาณ
บุญแห่งทักษิณาที่ประกอบด้วยองค์ ๖ ประการอย่างนี้ว่า 
ห้วงบุญห้วงกุศลมีประมาณเท่านี้ นำสุขมาให้ มีอารมณ์เลิศ
มีสุขเป็นผล เป็นไปเพื่อสวรรค์ เป็นไปเพื่อสิ่งน่าปรารถนา
น่าใคร่ น่าพอใจ เพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข ดังนี้ ไม่ใช่
ทำได้ง่าย โดยที่แท้บุญแห่งทักษิณานั้น ย่อมถึงการนับว่า
เป็นห้วงบุญห้วงกุศลที่จะนับไม่ได้ประมาณไม่ได้ เป็นกอง
บุญใหญ่ทีเดียว  เปรียบเหมือนการถือเอาประมาณแห่งน้ำ
ในมหาสมุทรว่า เท่านี้อาฬหกะ เท่านี้ร้อยอาฬหกะ เท่านี้พัน
อาฬหกะ หรือเท่านี้แสนอาฬหกะ ไม่ใช่ทำได้ง่าย โดยที่แท้
น้ำในมหาสมุทรย่อมถึงการนับว่า เป็นห้วงน้ำที่จะนับไม่ได้
ประมาณไม่ได้ เป็นห้วงน้ำใหญ่ทีเดียวฉะนั้น.

-บาลี ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๗๕/๓๐๘

(คาถาผนวกท้ายพระสูตร)
ผู้ให้ก่อนแต่จะให้เป็นผู้ดีใจ กำลังให้อยู่ย่อมยังจิต
ให้เลื่อมใส ครั้นให้แล้วย่อมปลื้มใจ นี้เป็นความถึงพร้อม
แห่งยัญ

ผู้รับเป็นผู้สำรวมประพฤติพรหมจรรย์ทั้งหลาย คือ
ท่านผู้ปราศจากราคะ ปราศจากโทสะ ปราศจากโมหะ ไม่มี
อาสวะ ย่อมเป็นเขตที่สมบูรณ์แห่งการให้ ทายกต้อนรับ
ปฏิคาหกด้วยตนเอง ถวายทานด้วยมือตนเอง ยัญนั้นย่อม
มีผลมากเพราะตนและเพราะผู้อื่น

ผู้มีปัญญา มีศรัทธา เป็นบัณฑิต มีใจพ้นจากความ
ตระหนี่ ครั้นบำเพ็ญทานอย่างนี้แล้ว ย่อมเข้าถึงโลกที่เป็นสุข
ไม่มีความเบียดเบียน.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น