วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2554

กรรมเก่า กรรมใหม่ ความดับแห่งกรรม ปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรม กรรมสูตร


ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงกรรมทั้งใหม่และเก่า
ความดับแห่งกรรม และปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรม
ท่านทั้งหลายจงฟังจงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมเก่าเป็นไฉน
จักษุ อันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า
อันปัจจัยทั้งหลายปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
หู...จมูก...ลิ้น...กาย...ใจ อันบัณฑิตพึงเห็นว่าเป็นกรรมเก่า
อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว สำเร็จด้วยเจตนา เป็นที่ตั้งแห่งเวทนา
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า กรรมเก่า ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็กรรมใหม่เป็นไฉน
กรรมที่บุคคลทำด้วย กาย วาจา ใจ ในบัดนี้ นี้เราเรียกว่า กรรมใหม่ ฯ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ความดับแห่งกรรมเป็นไฉน
นิโรธที่ถูกต้อง วิมุตติ เพราะความดับแห่งกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
นี้เราเรียกว่า ความดับแห่งกรรม ฯ

 ดูกรภิกษุทั้งหลายปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับแห่งกรรม
เป็นไฉนอริยมรรคมีองค์ ๘ ประการคือ
สัมมาทิฏฐิ ๑ สัมมาสังกัปปะ ๑ สัมมาวาจา ๑ สัมมากัมมันตะ ๑
สัมมาอาชีวะ ๑ สัมมาวายามะ ๑ สัมมาสติ ๑ สัมมาสมาธิ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่าปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับกรรม ฯ

 ดูกรภิกษุทั้งหลาย กรรมเก่า กรรมใหม่ ความดับแห่งกรรม
และปฏิปทาอันเป็นเครื่องให้ถึงความดับกรรม เราได้แสดงแล้วแก่ท่านทั้งหลาย
ด้วยประการดังนี้แล กิจใดแล อันเราผู้ศาสดา ผู้แสวงหาประโยชน์เกื้อกูล ผู้
อนุเคราะห์แก่สาวกทั้งหลาย พึงทำ กิจนั้นเราทำแล้วเพราะอาศัยความอนุเคราะห์

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นั่นโคนไม้ นั่นเรือนว่างเปล่า เธอทั้งหลายจงพยายาม อย่า
ประมาท อย่าได้เป็นผู้มีความเดือดร้อนใจในภายหลัง นี้เป็นอนุศาสนีของเราเพื่อ
เธอทั้งหลาย ฯ


พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๑๘
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๐ สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น