วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะได้

สิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะได้

คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้ น่าปรารถนา
น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.
ธรรม ๔ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-
ขอโภคะจงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๑ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยาก
ในโลก.
เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ขอยศจง
เฟื่องฟูแก่เราพร้อมด้วยญาติและมิตรสหาย นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๒ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ
หาได้ยากในโลก.

เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศ
พร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว ขอเราจงเป็นอยู่นาน
จงรักษาอายุให้ยั่งยืน นี้เป็นธรรม ประการที่ ๓ อันน่า
ปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.
เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศ
พร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่นานรักษา อายุ
ให้ยั่งยืนแล้ว เมื่อตายแล้ว ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
นี้เป็นธรรม ประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.


คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้แล น่าปรารถนา
น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.
คหบดี ! ธรรม ๔ ประการ ย่อมเป็นไปเพื่อให้ได้
ธรรม ๔ ประการนี้ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ
หาได้ยากในโลก ธรรม ๔ ประการเป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-
สัทธาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศรัทธา) ๑
สีลสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยศีล) ๑
จาคสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยการบริจาค ) ๑
ปัญญาสัมปทา (ความถึงพร้อมด้วยปัญญา) ๑ .

คหบดี ! ก็ สัทธาสัมปทาเป็นอย่างไรเล่า ?
อริยสาวกในธรรมวินัย ย่อมเป็นผู้มีศรัทธา เชื่อ
พระปัญญาตรัสรู้ของพระตถาคตว่า “เพราะเหตุอย่างนี้ๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส เป็นผู้ตรัสรู้
ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและ
จรณะ เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง เป็น
ผู้สามารถฝึกบุรุษที่สมควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า
เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น
ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญจำแนกธรรม
สั่งสอนสัตว์”. คหบดี ! นี้เรียกว่า สัทธาสัมปทา.

ก็สีลสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้เว้นขาดจาก
ปาณาติบาต เป็นผู้เว้นขาดจากอทินนาทาน เป็นผู้เว้นขาด
จากกาเมสุมิจฉาจาร เป็นผู้เว้นขาดจากมุสาวาท เป็นผู้
งดเว้นจากการดื่มน้ำเมา คือ สุราและเมรัย อันเป็นที่ตั้ง
แห่งความประมาท นี้เรียกว่า สีลสัมปทา.

ก็จาคสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?
อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ มีใจปราศจากมลทิน
คือ ความตระหนี่ มีการบริจาคอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามือ
อันชุ่ม ยินดีในการสละ เป็นผู้ควรแก่การขอ ยินดีในการให้
และการแบ่งปัน นี้เรียกว่า จาคสัมปทา.

ก็ปัญญาสัมปทา เป็นอย่างไรเล่า ?
บุคคลมีใจอันความโลภไม่สม่ำเสมอ คือ อภิชฌา
ครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำ
เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำและละเลยกิจที่ควรทำเสีย ย่อมเสื่อม
จากยศและความสุข บุคคลมีใจอันพยาบาท ถีนมิทธะ
อุทธัจจกุกกุจจะ อันวิจิกิจฉาครอบงำแล้ว ย่อมทำกิจที่
ไม่ควรทำ ละเลยกิจที่ควรทำ เมื่อทำกิจที่ไม่ควรทำและ
ละเลยกิจที่ควรทำเสีย ย่อมเสื่อมจากยศและความสุข.
คหบดี ! อริยสาวกนั้นแลรู้ว่า อภิชฌาวิสมโลภะ
(ความโลภอย่างแรงกล้า) เป็นอุปกิเลส (โทษเครื่องเศร้าหมอง)
แห่งจิต ย่อมละอภิชฌาวิสมโลภะอันเป็นอุปกิเลสแห่งจิต
เสียได้ รู้ว่า พยาบาท (คิดร้าย) ถีนมิทธะ (ความหดหู่ซึมเซา)
อุทธัจจกุกกุจจะ (ความฟุ้งซ่านรำคาญ) วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัย)
เป็นอุปกิเลสแห่งจิต ย่อมละเสียซึ่งสิ่งที่เป็นอุปกิเลส
แห่งจิตเหล่านั้น .

คหบดี ! เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่าอภิชฌาวิสมโลภะ
เป็นอุปกิเลสแห่งจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้นย่อมละเสียได้
เมื่อใดอริยสาวกรู้ว่าพยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ
วิจิกิจฉา เป็นอุปกิเลสแห่งจิตดังนี้แล้ว เมื่อนั้น ย่อมละ
สิ่งเหล่านั้นเสียได้ อริยสาวกนี้เราเรียกว่า เป็นผู้มีปัญญามาก
มีปัญญาหนาแน่น เป็นผู้เห็นทาง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วย
ปัญญา นี้เรียกว่า ปัญญาสัมปทา.

คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อให้
ได้ธรรม ๔ ประการนี้แล อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.

จตุกฺก. อํ. ๒๑/๘๕/๖๑.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น