วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ

อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ(๒ ประการ)

ภิกษุ ท. ! อานาปานสติอันบุคคลเจริญ กระทำ
ให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ก็อานาปานสติ
อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ?
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือ
โคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ
ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า
มีสติหายใจออก :
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว,
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น,
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งกายทั้งปวง (สพฺพกายปฏิสํเวที) หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำ
กายสังขารให้รำงับอยู่ (ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ) หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออก”;

เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งปีติ (ปีติปฏิสํเวที) หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้
พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งสุข (สุขปฏิสํเวที) หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้
พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งจิตตสังขาร (จิตฺตสงฺขารปฏิสํเวที) หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำ
จิตตสังขารให้รำงับอยู่ (ปสฺสมฺภยํ จิตฺตสงฺขารํ) หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งจิต (จิตฺตปฏิสํเวที) หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้
พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้
ปราโมทย์ยิ่งอยู่ (อภิปฺปโมทยํ จิตฺตํ) หายใจเข้า”, ว่า
“เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้
ตั้งมั่นอยู่ (สมาทหํ จิตฺตํ) หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิต
ให้ตั้งมั่นอยู่ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้
ปล่อยอยู่ (วิโมจยํ จิตฺตํ) หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำจิต
ให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่ง
ความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ (อนิจฺจานุปสฺสี) หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความ
จางคลายอยู่เป็นประจำ (วิราคานุปสฺสี) หายใจเข้า”, ว่า
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่ง
ความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ (นิโรธานุปสฺสี) หายใจเข้า”, ว่า
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่ง
ความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ (ปฏินิสฺสคฺคานุปสฺสี) หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;

ภิกษุ ท. ! อานาปานสติ อันบุคคลเจริญแล้ว
กระทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่.

ภิกษุ ท. ! เมื่ออานาปานสติ อันบุคคลเจริญ
ทำให้มากแล้วอยู่อย่างนี้ ผลอานิสงส์อย่างใดอย่างหนึ่ง
ในบรรดาผล ๒ ประการ เป็นสิ่งที่หวังได้; คือ

อรหัตตผลในปัจจุบัน หรือว่าถ้ายังมีอุปาทิเหลืออยู่
ก็จักเป็น อนาคามี.

ปฐมพลสูตร มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๙๖ - ๓๙๗/๑๓๑๑ - ๑๓๑๓.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น