วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตามดู ไม่ตามไป


มนุษย์เป็นสัตว์ที่สื่อสารกันด้วยระบบภาษาที่ซับซ้อน ทั้งโครงสร้างและความหมาย
วจีสังขาร ที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นนั้น มีความวิจิตรเทียบเท่าดุจความละเอียดของจิต
ทั้งนี้ เพราะ จิตเป็นตัวสร้างการหมายรู้ต่าง ๆ (จิต เป็นเหตุในการเกิดของนามรูป
และนามรูปซึ่งจิตสร้างขึ้นนั้น เป็นเหตุในการดำรงอยู่ได้ของจิต)

ถ้อยคำหนึ่ง ๆ ในภาษาหนึ่ง ๆ เมื่อนำไปวางไว้ในบริบทต่าง ๆ กัน ก็มีความหมายต่างกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้อยคำหนึ่ง ๆ ในบริบทเดียวกัน สามารถถูกเข้าใจต่างกันในความหมายได้
ขึ้นอยู่กับการหมายรู้เฉพาะของจิตผู้รับสาร  ซึ่งก็มีอนุสัยในการปรุงแต่งแตกต่างกันไป
ความหยาบละเอียดในอารมณ์  อันมีประมาณต่าง ๆ แปรผันไปตามการหมายรู้นั้น ๆ
การสื่อความให้เข้าใจตรงกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เรื่องราวในระดับชีวิตประจำวัน
แม้ในระหว่างบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น ในครอบครัวเดียวกันก็ตาม

การผิดใจกันที่มีเหตุมาจากการสื่อความหมายที่ไม่ตรง ก็มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ
กับกรณีของปรากฏการณ์ทางจิต ซึ่งมีมิติละเอียดปราณีตที่สุดในระบบสังขตธรรม
ใครเล่า จะมีความสามารถในการบัญญัติระบบคำพูด ที่ใช้ถ่ายทอดบอกสอนเรื่องจิตนี้
ให้ออกมาได้เป็นหลักมาตรฐานเดียว และใช้สื่อเข้าใจตรงกันได้ โดยไม่จำกัดกาลเวลา

“ดูกายดูใจ” “ดูจิต” “ตามดูตามรู้”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วลีข้างต้นนั้น ถูกใช้พูดกันทั่วไปเป็นปกติในหมู่นักภาวนา
ปกติจนเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกมองข้ามเพิกเฉย (take for granted) ไป
ราวกับว่า ใคร ๆ ก็รู้กันหมดแล้ว เหมือนคำที่ใช้กันเป็นประจำ เช่น กินข้าว อาบน้ำ ฯ
หากพิจารณาให้ดี จะพบจุดสังเกตุ ๒ ข้อ


๑. เมื่อถูกถามลงไปในขั้นตอนโดยละเอียด ว่าอะไรอย่างไร เกี่ยวกับ ดูกายดูใจ ดูจิต ฯ
คำตอบที่ได้ มีความหลากหลายแตกต่างกันไป แต่มีสิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งคือ
ต่างก็อ้างว่า มาจากมหาสติปัฏฐานสูตร ซึ่งเป็นทางเอก เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า

๒. ในแง่ของความแตกต่างดังกล่าวนั้น ส่วนมากมักจะบอกกันว่า เป็นเรื่องธรรมดา
“แล้วแต่จริต” จะปฏิบัติกันอย่างไร สุดท้ายแล้วก็ “ไปถึงที่หมายเดียวกัน”

เมื่อมาใคร่ครวญดูแล้ว จะพบความแปลกประหลาดซ้อนทับอีกชั้นหนึ่ง คือ ทั้ง ๒ ข้อนั้น
เป็นสิ่งที่ถูก take for granted อีกเช่นกัน เสมือนเป็นเรื่องที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่า
การปฏิบัติที่แตกต่างกันนั้นเป็นเรื่องธรรมดา “แล้วแต่จริต” และ “ไปถึงที่หมายเดียวกัน”
โดยละเลยการทำความเข้าใจที่ถูกต้องชัดเจน ว่าอะไรอย่างไรในความแตกต่างนั้น

เหตุการณ์ทั้ง ๒ นี้ จะไม่มีทางเกิดขึ้นกับอริยสาวก ผู้ประกอบพร้อมด้วยโสตาปัตติยังคะ ๔
ผู้ถึงซึ่งศรัทธาอย่างไม่หวั่นไหว ในการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ในพระธรรม ในพระสงฆ์
เป็นอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ถึงการนับว่าเป็นคนของพระพุทธเจ้าโดยไม่มีข้อสงสัยแล้ว
ย่อมที่จะรู้ด้วย อสาธารณญาณ โดยไม่ต้องอาศัยปัจจัยภายนอกจากใครอื่นว่า
ธรรมะที่ถูกบัญญัติโดยพระพุทธเจ้านั้น จะมีคุณลักษณะคล้องเกลียวเชื่อมโยงเป็นหนึ่ง
“ภิกษุทั้งหลาย นับแต่ราตรี ที่ตถาคตได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาโพธิญาณ
จนกระทั่งถึงราตรีที่ตถาคตปรินิพพานด้วยอนุปทิเสสนิพพานธาตุ
ตลอดเวลาระหว่างนั้น ตถาคตได้กล่าวสอน พร่ำสอน แสดงออกซึ่งถ้อยคำใด
ถ้อยคำเหล่านั้น ทั้งหมด ย่อมเข้ากันได้โดยประการเดียวทั้งสิ้น ไม่แย้งกันเป็นประการอื่นเลย”
–อิติวุ. ขุ. ๒๕/๓๒๑/๒๙๓.

ก่อนพุทธปรินิพพาน ทรงรับสั่งไว้กับพระอานนท์เถระว่า ความสอดคล้องเข้ากันเป็นหนึ่งนี้
ให้ใช้เป็นหลักมาตรฐานในการตรวจสอบว่าอะไรใช่ หรือไม่ใช่พระธรรมวินัย (มหาปเทส ๔)

ยิ่งไปกว่านั้น ทรงระบุไว้ด้วยว่า หากรู้แล้วว่าไม่ใช่พระธรรมวินัย ให้เราละทิ้งสิ่งนั้นไปเสีย
ความสามารถในการใช้บทพยัญชนะที่มีอรรถะ(ความหมาย) สอดคล้องกันเป็นหนึ่งเดียวนี้
เป็นพุทธวิสัย  มิใช่สาวกวิสัย ทั้งนี้ เพราะเหตุคือความต่างระดับชั้นกันของบารมีที่สร้างสมมา
พระตถาคต สร้างบารมีมาในระดับพุทธภูมิ เพื่อให้ได้มา

ซึ่งความเป็นอรหันตสัมมาสัมพุทธะ พระสาวก สร้างบารมีในระดับสาวกภูมิ เพื่อให้ได้มา ซึ่งโอกาสในการเป็นสาวกในธรรมวินัยนี้
ที่มาที่ไปของคำว่า ดูจิต หรือ ตามดูตามรู้ฯ ไม่ใช่เรื่องลึกลับซับซ้อนที่จะสืบค้น
ตัวสูตรที่เป็นพุทธวจน เพื่อใช้ตรวจสอบเทียบเคียงตามหลักมหาปเทส ก็มีอยู่
ใช่หรือไม่ว่า ปัญหาที่แท้จริงทั้งกับในกรณีนี้ และอื่น ๆทำนองเดียวกันนี้ คือ ความขี้เกียจ
ความมักง่ายของชาวพุทธนั่นเอง ที่ไม่อยากเข้าไปลงทุนลงแรงศึกษาสืบค้นพุทธวจน
แล้วไปคาดหวังลม ๆ แล้ง ๆ ว่า น่าจะมีใครสักคนหนึ่งหรือสองคน ที่มีความสามารถ
พิเศษคิดค้นย่นย่อหลักธรรมที่พระตถาคตบัญญัติไว้เป็นสวากขาโตแล้วนั้น ให้ง่ายสั้นลง
กว่าได้

การเชื่อเช่นนี้ เป็นลักษณะความเชื่อของปุถุชนผู้มิได้สดับ - มิได้เห็นพระอริยเจ้า -
ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยเจ้า - ไม่ได้รับการแนะนำในธรรมของพระอริยเจ้า จึงไม่ทราบว่า
พระสาวกมีภูมิธรรมจำกัดอยู่เพียงแค่เป็นผู้เดินตามมรรคที่พระตถาคตบัญญัติไว้เท่านั้น
(มคฺคานุคา จ ภิกฺขเว เอตรหิ สาวกา วิหรนฺติ ปจฺฉา สมนฺนาคตา)

ผู้ที่สร้างบารมีมาในระดับสาวกภูมิ ไม่มีความสามารถในการคิดสร้างมรรคขึ้นเอง
ไม่เว้นแม้แต่ พระอรหันต์ผู้หลุดพ้นด้วยปัญญา (ปญฺญาวิมุตฺเตน ภิกฺขุนาติ) ก็ตาม

พระพุทธเจ้า (อรหํ สมฺมาสมฺพุทฺโธ) ในฐานะพระศาสดานั้น มีคุณสมบัติเหนือไปกว่า คือ
ทรงเป็นผู้รู้มรรค (มคฺคญฺญู) รู้แจ้งในมรรค (มคฺควิทู) และเป็นผู้ฉลาดในมรรค (มคฺคโกวิโท)
พระพุทธองค์จึงทรงรับสั่งป้องกันไว้ล่วงหน้าแล้วว่า สูตรใด ๆ ก็ตามที่แต่งขึ้นใหม่ในภายหลัง
แม้จะมีความสละสลวยวิจิตร เป็นของนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก ให้เราไม่สำคัญตนว่า
เป็นสิ่งที่ควรเล่าเรียนศึกษา ในทางกลับกัน คำกล่าวของตถาคต อันมีความหมายลึกซึ้งนั้น
ให้เราสำคัญตนว่าเป็นสิ่งที่ควรเล่าเรียนศึกษา และให้พากันเล่าเรียนศึกษาคำของตถาคตนั้น
แล้วให้ไต่ถามทวนถามกันและกันในเรื่องนั้น ๆ ว่าพระพุทธเจ้าทรงกล่าวเรื่องนี้ไว้อย่างไร
ข้างต้นนี้ คือ "วิธีการเปิดธรรมที่ถูกปิดด้วยพุทธวจน" และชาวพุทธที่มีการศึกษาในลักษณะนี้
(ปฏิปุจฺฉาวินีตา ปริสา โน อุกฺกาจิตวินีตา) พระพุทธองค์ทรงเรียกว่าเป็นพุทธบริษัทอันเลิศ
ในมหาสติปัฏฐานสูตรนั้น แบ่งฐานที่ตั้งแห่งสติออกเป็น ๔ ฐาน คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
โดยแต่ละฐาน มีรายละเอียดระบุชัดเจนว่าปฏิบัติอย่างไร ขอบเขตแค่ไหน และจบลงอย่างไร
ผู้ที่ศึกษาพุทธวจนโดยละเอียดรอบคอบ ย่อมที่จะเข้าใจแง่มุมต่าง ๆ โดยลึกซึ้งครบถ้วน และ
ย่อมที่จะรู้ได้ว่า ความแตกต่างในมรรควิธี มีได้ แต่ไม่ใช่มีโดยสะเปะสะปะไร้เงื่อนไขขอบเขต

หากแต่มีได้ หลากหลายได้ ภายใต้พุทธบัญญัติซึ่งมีลักษณะเชื่อมโยงสอดคล้องเป็นหนึ่ง
ผลอานิสงส์มุ่งหมายในที่สุด ก็สามารถเข้าถึงได้ ด้วยวิธีอันหลากหลายภายใต้ความเป็นหนึ่งนี้
ในวาระนี้ จะขอยกหมวดของ

"จิตตานุปัสสนา" คือการตามเห็นในกรณีของจิต ขึ้นเป็นตัวอย่าง
ปัจจุบัน มีผู้ที่ดูจิต หรือดูอาการของจิต โดยใช้คำอธิบายสภาวะของจิตซึ่งบัญญัติขึ้นใหม่เอง
แล้วหลงเข้าใจไปว่า การฝึกตามดูตามรู้สภาวะนั้น ๆ ไปเรื่อย ๆ คือการเจริญสติ คือการดูจิต
หากพิจารณาโดยแยบคายแล้ว คำเรียกอาการของจิต ที่คิดขึ้นใหม่เองทั้งหลายเหล่านั้น
เป็นเพียงการตั้งชื่อเรียกอารมณ์อันมีประมาณต่าง ๆ และการตามเห็นสภาวะนั้น ๆ ไปเรื่อย ๆ
ก็คือการฝึกผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน (ฝึกจิตให้มีสัญโญคะ)
จะด้วยเหตุอย่างไรก็ตามแต่ ระบบคำเรียกที่ต่างกันตรงนี้ อาจดูเหมือนเป็นเรื่องเล็กน้อย
แต่หากเทียบในระดับความละเอียดของจิตแล้ว องศาที่เบี่ยงเพียงเล็กน้อย ณ จุดตรงนี้
สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่สุดในการปฏิบัติ คืออานิสงส์มุ่งหมาย ที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิง
นัยยะหนึ่ง ที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติให้เราตามเห็นจิต (จิตฺตานุปสฺสนา) แท้จริงแล้วก็เพื่อ
ให้เห็นเหตุเกิดและเสื่อมไป โดยอาศัยการตามเห็น “อาการของจิต” เพียงแค่ ๘ คู่อาการเท่านั้น

ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิตอยู่ นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุในกรณีนี้
(๑) รู้ชัดซึ่งจิตอันมีราคะ ว่า “จิตมีราคะ”
(๒) รู้ชัดซึ่งจิตอันปราศจากราคะ ว่า “จิตปราศจากราคะ”
(๓) รู้ชัดซึ่งจิตอันมีโทสะ ว่า “จิตมีโทสะ”
(๔) รู้ชัดซึ่งจิตอันปราศจากโทสะ ว่า “จิตปราศจากโทสะ”
(๕) รู้ชัดซึ่งจิตอันมีโมหะ ว่า “จิตมีโมหะ”
(๖) รู้ชัดซึ่งจิตอันปราศจากโมหะ ว่า “จิตปราศจากโมหะ”
(๗) รู้ชัดซึ่งจิตอันหดหู่ ว่า “จิตหดหู่”
(๘) รู้ชัดซึ่งจิตอันฟุ่งซ่าน ว่า “จิตฟุ้งซ่าน”
(๙) รู้ชัดซึ่งจิตอันถึงความเป็นจิตใหญ่ ว่า “จิตถึงแล้วซึ่งความเป็นจิตใหญ่”
(๑๐) รู้ชัดซึ่งจิตอันไม่ถึงความเป็นจิตใหญ่ ว่า “จิตไม่ถึงแล้วซึ่งความเป็นจิตใหญ่”
(๑๑) รู้ชัดซึ่งจิตอันยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า ว่า “จิตยังมีจิตอื่นยิ่งกว่า”
(๑๒) รู้ชัดซึ่งจิตอันไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ว่า “จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า”
(๑๓) รู้ชัดซึ่งจิตอันตั้งมั่น ว่า “จิตตั้งมั่น”
(๑๔) รู้ชัดซึ่งจิตอันไม่ตั้งมั่น ว่า “จิตไม่ตั้งมั่น”
(๑๕) รู้ชัดซึ่งจิตอันหลุดพ้นแล้ว ว่า “จิตหลุดพ้นแล้ว”
(๑๖) รู้ชัดซึ่งจิตอันยังไม่หลุดพ้น ว่า “จิตยังไม่หลุดพ้น”

ด้วยอาการอย่างนี้แล ที่ภิกษุเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นจิตในจิต (จิตฺเต จิตฺตานุปสฺสี วิหรติ)
อันเป็นภายในอยู่บ้าง, ในจิตอันเป็นภายนอกอยู่บ้าง, ในจิตทั้งภายในและภายนอกอยู่บ้าง;
และเป็นผู้มีปกติพิจารณาเห็นธรรมเป็นเหตุ เกิดขึ้นในจิตอยู่บ้าง,
เห็นธรรมเป็นเหตุเสื่อมไปในจิตอยู่บ้าง,
เห็นธรรมเป็นเหตุทั้งเกิดขึ้นและเสื่อมไปในจิตอยู่บ้าง;
ก็แหละสติ(คือความระลึก) ว่า “จิตมีอยู่” ดังนี้ ของเธอนั้น
เป็นสติที่เธอดำรงไว้เพียงเพื่อความรู้ เพียงเพื่อความอาศัยระลึก.
ที่แท้เธอเป็นผู้ที่ตัณหาและทิฏฐิอาศัยไม่ได้ และเธอไม่ยึดมั่นอะไร ๆ ในโลกนี้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้มีปกติตามเห็นจิตในจิตอยู่ แม้ด้วยอาการอย่างนี้.

- มหาสติปัฏฐานสูตร มหาวาร. สํ. ๑๐/๓๓๑/๒๘๙.

1 ความคิดเห็น: