วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การดำรงชีพชอบโดยทิศ ๖ ของฆราวาส

การดำรงชีพชอบโดยทิศ ๖ ของฆราวาส


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อม
ทิศทั้งหกอย่างไร พระเจ้าข้า ! พระองค์จงทรงแสดงธรรมที่เป็น
การนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”
คหบดีบุตร ! เมื่อใด อริยสาวกละเสียได้ซึ่ง
กรรมกิเลส ๔ ประการ ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดย
ฐานะทั้งสี่ และไม่เสพทางเสื่อม (อบายมุข) แห่งโภคะ ๖ ทาง,
เมื่อนั้น เขาชื่อว่า เป็นผู้ปราศจากกรรมอันเป็นบาป
รวม ๑๔ อย่าง เป็นผู้ปิดกั้นทิศทั้งหกโดยเฉพาะแล้ว;
ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า เขาปฏิบัติแล้วเพื่อชนะโลกทั้งสอง,
ทั้งโลกนี้และโลกอื่น เป็นอันเขาปรารภกระทำครบถ้วนแล้ว
(อารทฺโธ), เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ภายหลังแต่การตาย
เพราะการทำลายแห่งกาย, ดังนี้.

กรรมกิเลส ๔ ประการ อันอริยสาวกนั้น ละเสีย
ได้แล้ว เป็นอย่างไรเล่า ?

คหบดีบุตร ! ปาณาติบาต เป็นกรรมกิเลส.
อทินนาทาน เป็นกรรมกิเลส. กาเมสุมิจฉาจาร เป็น
กรรมกิเลส. มุสาวาท เป็นกรรมกิเลส. กรรมกิเลส ๔
ประการเหล่านี้ เป็นกรรมอันอริยสาวกนั้น ละขาดแล้ว.
อริยสาวก ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดยฐานะ
ทั้ง ๔ เป็นอย่างไรเล่า ?

ผู้ถึงซึ่งฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรัก) ชื่อว่ากระทำกรรม
อันเป็นบาป, ผู้ถึงซึ่งโทสาคติ (ลำเอียงเพราะเกลียด) ชื่อว่า
กระทำกรรมอันเป็นบาป, ผู้ถึงซึ่งโมหาคติ (ลำเอียงเพราะโง่เขลา)
ชื่อว่ากระทำกรรมอันเป็นบาป, ผู้ถึงซึ่งภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว)
ชื่อว่ากระทำอันเป็นบาป.

คหบดีบุตร ! เมื่อใดอริยสาวกไม่ถึงซึ่งฉันทาคติ
ไม่ถึงซึ่งโทสาคติ ไม่ถึงซึ่งโมหาคติ ไม่ถึงซึ่งภยาคติ;
เมื่อนั้น ชื่อว่า ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดยฐานะทั้ง ๔
เหล่านี้, ดังนี้.
อริยสาวก ไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ ทาง
เป็นอย่างไรเล่า ?


คหบดีบุตร ! การตามประกอบในธรรมเป็นที่ตั้ง
แห่งความประมาทเนื่องด้วยของเมา คือสุราและเมรัย
เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ, การตามประกอบในการเที่ยว
ตามตรอกซอกในเวลาวิกาล เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ,
การเที่ยวไปในที่ชุมนุมแห่งความเมา (สมชฺชาภิจรณ) เป็น
ทางเสื่อมแห่งโภคะ, การตามประกอบในธรรมเป็นที่ตั้ง
แห่งความประมาทคือการพนัน เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ,
การตามประกอบในบาปมิตร เป็นทางเสื่อมแห่งโภคะ,
การตามประกอบในความเกียจคร้าน เป็นทางเสื่อมแห่ง
โภคะ.
คหบดีบุตร ! อริยสาวกเป็นผู้ปกปิดทิศทั้งหก
โดยเฉพาะแล้ว เป็นอย่างไรเล่า ?

คหบดีบุตร ! พึงทราบว่า ทิศทั้งหกเหล่านี้ มีอยู่
คือพึงทราบว่า มารดาบิดา เป็นปุรัตถิมทิศ (ทิศเบื้องหน้า),
พึงทราบว่า อาจารย์ เป็นทักขิณทิศ (ทิศเบื้องขวา),
พึงทราบว่า บุตรภรรยา เป็นปัจฉิมทิศ (ทิศบื้องหลัง),
พึงทราบว่า มิตรสหาย เป็นอุตตรทิศ (ทิศเบื้องซ้าย),
พึงทราบว่า ทาสกรรมกร เป็นเหฏฐิมทิศ (ทิศเบื้องต่ำ),
พึงทราบว่า สมณพราหมณ์ เป็นอุปริมทิศ (ทิศเบื้องบน).
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหน้า

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้าคือมารดาบิดา
อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ ดังนี้ว่า
ท่านเลี้ยงเราแล้ว เราจักเลี้ยงท่าน ๑
เราจักทำกิจของท่าน ๑
เราจักดำรงวงศ์สกุล ๑
เราจักปฏิบัติตนเป็นทายาท ๑
เมื่อท่านทำกาละล่วงลับไปแล้ว
เราจักกระทำทักษิณาอุทิศท่าน ๑

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหน้าคือมารดาบิดา
อันบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์บุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
ห้ามเสียจากบาป ๑
ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑
ให้ศึกษาศิลปะ ๑
ให้มีคู่ครองที่สมควร ๑
มอบมรดกให้ตามเวลา ๑
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหน้านั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องขวา

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์
พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
ด้วยการลุกขึ้นยืนรับ ๑
ด้วยการเข้าไปยืนคอยรับใช้ ๑
ด้วยการเชื่อฟังอย่างยิ่ง ๑
ด้วยการปรนนิบัติ ๑
ด้วยการศึกษาศิลปวิทยาโดยเคารพ ๑

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องขวา คือ อาจารย์ อันศิษย์
ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์
ศิษย์โดยฐานะ ๕ ประการ คือ
แนะนำดี ๑
ให้ศึกษาดี ๑
บอกศิลปวิทยาสิ้นเชิง ๑
ทำให้เป็นที่รู้จักในมิตรสหาย ๑
ทำการคุ้มครองให้ในทิศทั้งปวง ๑
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องขวานั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องหลัง

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามี
พึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
ด้วยการยกย่อง ๑
ด้วยการไม่ดูหมิ่น ๑
ด้วยการไม่ประพฤตินอกใจ ๑
ด้วยการมอบความเป็นใหญ่ในหน้าที่ให้ ๑
ด้วยการให้เครื่องประดับ ๑

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องหลัง คือ ภรรยา อันสามี
ปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว ย่อมอนุเคราะห์
สามีโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
จัดแจงการงานดี ๑
สงเคราะห์คนข้างเคียงดี ๑
ไม่ประพฤตินอกใจ ๑
ตามรักษาทรัพย์ที่มีอยู่ ๑
ขยันขันแข็งในการงานทั้งปวง ๑
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องหลังนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้วเป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องซ้าย

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย
อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
ด้วยการให้ปัน ๑
ด้วยการพูดจาไพเราะ ๑
ด้วยการประพฤติประโยชน์ ๑
ด้วยการวางตนเสมอกัน ๑
ด้วยการไม่กล่าวคำอันเป็นเครื่องให้แตกกัน ๑

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องซ้าย คือ มิตรสหาย
อันกุลบุตรปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ เหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
รักษามิตรผู้ประมาทแล้ว ๑
รักษาทรัพย์ของมิตรผู้ประมาทแล้ว ๑
เป็นที่พึ่งแก่มิตรเมื่อมีภัย ๑
ไม่ทอดทิ้งในยามมีอันตราย ๑
นับถือสมาชิกในวงศ์ของมิตร ๑
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องซ้ายนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องต่ำ

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร
อันนายพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
ด้วยให้ทำการงานตามกำลัง ๑
ด้วยการให้อาหารและรางวัล ๑
ด้วยการรักษาพยาบาลยามเจ็บไข้ ๑
ด้วยการแบ่งของมีรสประหลาดให้ ๑
ด้วยการปล่อยให้อิสระตามสมัย ๑

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องต่ำ คือ ทาสกรรมกร
อันนายปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการเหล่านี้แล้ว
ย่อมอนุเคราะห์นายโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
เป็นผู้ลุกขึ้นทำงานก่อนนาย ๑
เลิกงานทีหลังนาย ๑
ถือเอาแต่ของที่นายให้ ๑
กระทำการงานให้ดีที่สุด ๑
นำเกียรติคุณของนายไปร่ำลือ ๑
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องต่ำนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.
หน้าที่ที่พึงปฏิบัติต่อทิศเบื้องบน

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์
อันกุลบุตรพึงปฏิบัติต่อโดยฐานะ ๕ ประการ คือ
ด้วยเมตตากายกรรม ๑
ด้วยเมตตาวจีกรรม ๑
ด้วยเมตตามโนกรรม ๑
ด้วยการไม่ปิดประตู (คือยินดีต้อนรับ) ๑
ด้วยการคอยถวายอามิสทาน ๑

คหบดีบุตร ! ทิศเบื้องบน คือ สมณพราหมณ์
ย่อมอนุเคราะห์กุลบุตรโดยฐานะ ๖ ประการ คือ
ห้ามเสียจากบาป ๑
ให้ตั้งอยู่ในความดี ๑
อนุเคราะห์ด้วยใจอันงดงาม ๑
ให้ฟังในสิ่งที่ไม่เคยฟัง ๑
ทำสิ่งที่ได้ฟังแล้วให้แจ่มแจ้งถึงที่สุด ๑
บอกทางสวรรค์ให้ ๑
เมื่อเป็นดังนี้ ทิศเบื้องบนนั้น เป็นอันว่ากุลบุตรนั้น
ปิดกั้นแล้ว เป็นทิศเกษม ไม่มีภัยเกิดขึ้น.

ปา. ที. ๑๑/๑๙๕ - ๒๐๖/๑๗๔ – ๒๐๕.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น