พระอาจารย์คึกฤทธิ์

พระอาจารย์คึกฤทธิ์ โสตถิผโล
  
ประวัติในช่วงเป็นฆราวาส
      พระอาจารย์คึกฤทธิ์ เกิดวันที่ ๑๘ มกราคม ๒๕๐๖ ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ กรงเทพฯ ท่านจบปริญญาตรี นายร้อย จปร. สาขาวิศวกรรมเครื่องกล และ ปริญญาโท จากจุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย คณะรัฐศาสตร์ จากนั้นท่านได้ รับราชการทหาร โดยมียศหลังสุดในชีวิตฆราวาสเป็นพันตรี
จุดเริ่มต้นในเส้นทางธรรม
            ในปี พ.ศ. ๒๕๒๒ ขณะท่านเรียนอยู่เตรียมทหาร ชั้นปีที่ ๑ ระหว่างปิดเทอม โยมแม่ของท่านได้พาไปบวชกับ หลวงพ่อชา สุภัทโท ที่วัดหนองป่าพงเป็นเวลา ๑ เดือน เป็นครั้งแรกที่ไปสู่ดินแดนแห่งความสงบวิเวก ที่ยังใช้ชีวิตแบบง่ายๆ ตามกุฏิ ใช้การจุดเทียนให้แสงสว่าง เดินตามทางใช้ไฟฉาย น้ำอุปโภค ใช้เชือกผูกกับปิ๊บหย่อนไปในบ่อดิน ช่วยกันดึงขึ้นแล้วเทใส่ถังในรถ เข็นไปไว้ตามกุฏิ ศาลา และที่ต่างๆ อาหารขบฉันที่มีไม่มาก ต้องใช้พระตัวแทนสงฆ์มาจัดแจกแบ่งปันส่วน เพื่อให้เพียงพอกับทุกชีวิตในวัด และได้พบหลวงพ่อชา ได้ใกล้ชิด และสัมผัสกับธรรมะ รวมถึงข้อวัตรปฏิบัติที่เคร่งครัด งดงามน่าเลื่อมใสของท่าน สัมผัสกับจิตบริสุทธ์ทีมีอยู่จริง เกิดใคร่สนใจอยากศึกษา จึงเริ่มมีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เมื่อครบกำหนดลาสิกขากลับมาสู่การศึกษาเล่าเรียน จึงตั้งใจเริ่มฝึกหัดรักษาศีล ๕ อย่างเคร่งครัด ตามสติกำลังอยู่ตลอดมามิได้ขาด

     ท่านได้กลับไปยังวัดหนองป่าพงในทุกช่วงเวลาปิดเทอม จนกระทั่งได้มีโอกาสบวชอีกทีในตอนปิดเทอมชั้นปีที่ ๔ ของนายร้อย จปร. ในครั้งนี้ ท่านได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อหลวงพ่อชา ว่า จะใช้ชีวิตฆราวาสอีกเพียง ๑๐ ปี แล้วขอให้มีเหตุปัจจัยผลักดันให้ได้ครองเพศบรรพชิตไปตลอดชีวิต

ชีวิตในเพศบรรพชิตครั้งสุดท้าย

     หลังจากได้ตั้งอธิษฐานกับหลวงพ่อชาในครั้งนั้น ท่านก็ใช้ชีวิตทางโลกอย่างปรกติเรื่อยมา ท่านเล่าว่าการใช้ชีวิตโดยมีสติและธรรมะอยู่กับตัว ช่วยให้การดำเนินชีวิตทางโลกของท่านเป็นไปอย่างสะดวก ไม่เศร้าหมอง และมีส่วนสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองในหน้าที่การงานเป็นอย่างมาก แต่บางครั้งการมีสติ ก็ทำให้การไปเที่ยวเตร่หรือการเที่ยวเล่นเริ่มไม่เป็นเรื่องสนุกเหมือนอย่างเคย เพราะท่านมองเห็นแต่โทษภัยของการขาดสติ โทษของการที่เผลอเพลินไปกับกิเลสต่างๆ จนในที่สุด เมื่อครบ ๑๐ ปี ตรงกับที่ได้ตั้งอธิษฐานไว้ และเป็นปีที่หลวงพ่อชาได้มรณภาพ

      ในกาลนั้นเองท่านได้เห็นสัจธรรมความไม่เที่ยงของสรรพสัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ ไม่เว้นแม้แต่ครูบาอาจารย์ที่ท่านเคารพ ท่านจึงอาศัยสิ่งนี้เป็นอันดับแรก เป็นอนุสติเครื่องกระตุ้นเตือนใจ ผลักตัวเองให้ออกจากชีวิตทางโลก ประกอบกับเกิดความรู้สึกเบื่อหน่าย และไม่ค่อยเห็นประโยชน์ในการใช้ชีวิตฆราวาสเป็นอย่างยิ่ง อีกทั้งได้รู้สึกถึงความก้าวหน้าของผลการปฏิบัติ ที่ค่อยๆ ฝึกหัดกระทำมาตลอด ๑๔ ปี นับแต่เจอหลวงพ่อชา สิ่งเหล่านี้จึงรวมมาเป็นเหตุปัจจัยผลักดันให้ท่านเข้ามาบวชอีกครั้ง

     ครั้งนี้ท่านเข้าสู่ร่มผ้ากาสาวพัตร์ ที่สำนักสงฆ์บุญญาวาส จังหวัดชลบุรี ปัจจุบันเป็นวัดสาขาของวัดหนองป่าพง มีพระอาจารย์ตั๋น (พระอาจารย์อัครเดช ถิรจิตฺโต) เป็นเจ้าอาวาส หลังจากบวชได้ระยะหนึ่ง ในระหว่างออกปลีกวิเวกธุดงค์ร่วมกับพระเถระอีก ๒ รูป ท่านได้มาบำเพ็ญภาวนา พำนักอยู่ยังผืนนาอันเป็นของโยมแม่ท่านยกถวาย ณ.บริเวณถนนลำลูกกา คลองสิบ จังหวัดปทุมธานี เรื่อยมาจนท่านได้ ๕ พรรษา จากนั้นเป็นช่วงเวลาที่ท่านได้พำนัก อยู่เพียงลำพังผู้เดียว ท่านจึงอาศัยความสันโดษวิเวกนี้ เป็นโอกาสแห่งการปฏิบัติภาวนาอย่างเต็มกำลังความสามารถ พร้อมทั้งศึกษาธรรม และวินัยจากพระโอษฐ์ควบคู่กันไป
    
           ในช่วงหน้าแล้งของแต่ละปี ท่านได้หาโอกาสออกวิเวกตามป่าเขา จนในพรรษาที่ ๗ หลังออกวิเวกธุดงค์ โดยเดินจากเมืองกาญจนบุรีผ่านทุ่งใหญ่นเรศวร  ขึ้นจังหวัดตาก และเมื่อกลับมาถึงคลองสิบ ได้เป็นไข้มาลาเรีย นอนป่วยอยู่ผู้เดียวเป็นเวลา ๗ วัน จึงมีคนมารับไปรักษา ผลจากอาพาธครั้งนี้ทำให้ท่านมีอาการอ่อนเพลียต่อเนื่องมาอีก ๕ ปี จึงเริ่มหายเป็นปกติ ในระหว่างนั้นสถานที่ดังกล่าวค่อยๆ ได้รับการพัฒนาตามลำดับ ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๔๕ หรือประมาณ ๘ ปี นับแต่ท่านได้มาอยู่บำเพ็ญภาวนาสถานที่แห่งนี้ จึงได้ขึ้นทะเบียนตั้งเป็นวัดนาป่าพงจวบจนถึงปัจจุบัน
    
ท่านได้วางแนวทางการปฏิบัติของพระสงฆ์ในวัดได้อย่างชัดเจน โดยยึดแต่คำสอนที่เป็นพุทธวจนะของพระพุทธเจ้าเป็นแนวทาง ท่านได้วางนโยบายในวัดให้มีความสงบสอดคล้องเหมือนกับการออกวิเวกธุดงค์ กำหนดกิจข้อวัตรของพระในวัดให้กระชับที่สุด และเป็นกฎเกณฑ์ของหมู่คณะที่ต้องเคร่งครัด เพื่อเปิดโอกาสให้พระได้มีเวลาในการภาวนามากๆ

     ผู้ที่จะบวชในวัดนี้ควรจะต้องมีเวลาอย่างน้อย ๑ เดือน เพื่อเตรียมตัวอยู่เป็นผ้าขาวก่อนประมาณ ๒ อาทิตย์ จากนั้นบรรพชาเป็นสามเณรอีกประมาณ ๑ อาทิตย์ แล้วจึงสามารถบวชเป็นพระได้ ทั้งนี้เพื่อฝึกฝนข้อวัตรปฏิบัติ และเป็นการชำระกายใจให้บริสุทธิ์เสียก่อน เนื่องเพราะท่านเห็นว่าการบวชในระยะสั้นๆ นั้นเกิดประโยชน์น้อย และเสี่ยงต่อการทำผิดในเพศบรรพชิตได้ง่าย

     ท่านเน้นย้ำมากในเรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรมะว่า ควรศึกษาโดยตรงในธรรมะจากพระโอษฐ์เท่านั้น เพราะที่ทรงตรัสถึงขีดจำกัดของสาวกที่เป็นเพียงผู้เดินตามมรรค การแสดงความเห็นของสาวกย่อมมีข้อผิดเพี้ยน ซึ่งเป็นเหตุเสื่อมและเป็นความอันตรธานแห่งธรรมวินัยของตถาคตในกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต และเป็นเหตุแห่งการนับถือศาสนาพุทธที่ผิดเพี้ยนไปด้วย รวมถึงการนำพระพุทธศาสนาไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง

      ท่านแนะนำการศึกษาพระพุทธศาสนาจากพระโอษฐ์ จากหนังสือที่ท่านพุทธทาสได้รวบรวมเฉพาะคำพูดจากพระโอษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าโดยตรง ไม่ปนความเห็นของผู้ใด มี ๕ เล่ม คือ ๑.อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น ๒.อริยสัจจากพระโอษฐ์  ภาคปลาย ๓. ขุมทรัพย์จากพระโฮษฐ์   ๔.พุทธประวัติจากพระโอษฐ์  และ ๕.ปฏิจฺจสมุปฺบาทจากพระโอษฐ์  ซึ่งทางธรรมสภาได้รวบรวมและจัดส่งให้โดยสะดวกแก่ผู้โทรสั่งซื้อ ท่านกล่าวว่า การที่พุทธบริษัทศึกษาและปฏิบัติจากคำสอนของพระพุทธเจ้าโดยตรงนี้ จะทำให้การภาวนาเจริญก้าวหน้า และเป็นทางเดียวที่จะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนาที่บริสุทธิ์ได้อย่างสมบูรณ์