วันจันทร์ที่ 30 มกราคม พ.ศ. 2555

การมีธรรมของพระตถาคตอยู่ในโลก คือความสุขของโลก



ภิกษุ ท. ! เมื่อพระสุคตก็ดี ระเบียบวินัยของพระสุคตก็ดี ยังคงมีอยู่ ในโลกเพียงใด
อันนั้นก็ยังเป็นไปเพื่อความเกื้อกูลแก่ชนเป็นอันมาก เพื่อความสุขของชนเป็นอันมาก
เพื่ออนุเคราะห์แก่โลก, เพื่อประโยชน์ เพื่อความเกื้อกูล
เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย, อยู่เพียงนั้น.

ภิกษุ ท. ! พระสุคตนั้นคือใครเล่า ?
คือตถาคต บังเกิดขึ้นในโลกนี้
เป็นพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้ชอบเอง ถึงพร้อมด้วยวิชชาและจรณะ เป็นผู้ไปดี รู้แจ้งโลก
เป็นสารถีฝึกคนควรฝึกไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบานแล้ว
จำแนกธรรมออกสอนสัตว์. นี้คือ พระสุคต.

ภิกษุ ท. ! ระเบียบวินัยของพระสุคตนั้นคืออะไรเล่า ? 
คือตถาคตนั้นแสดงธรรมไพเราะในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด, ประกาศพรหมจรรย์
พร้อมทั้งอรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง. ธรรมที่ตถาคตแสดง
พรหมจรรย์ที่ตถาคตประกาศ นี้แล คือ ระเบียบวินัยของตถาคต.

วันอังคารที่ 17 มกราคม พ.ศ. 2555

บทสวดระลึกถึงพระสงฆ์


สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติดีแล้ว

อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติตรงแล้ว

ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อรู้ธรรม
เป็นเครื่องออกจากทุกข์แล้ว

สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ
สงฆ์สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า เป็นผู้ปฏิบัติสมควรแล้ว

ยะทิทัง
ได้แก่บุคคลเหล่านคีื้อ

วันจันทร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2555

พระพุทธเจ้า คือ ครูผู้สอนของเทวดา และ มนุษย์ ทั้งหลาย..



"เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า
ว่า  “เพราะเหตุอย่างนี้ ๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง 
เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและข้อปฏิบัติให้ถึงวิชชา เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี 
เป็นผู้รู้โลกอย่างแจ่มแจ้ง
เป็นผู้สามารถฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างไม่มีใครยิ่งกว่า เป็นครูผู้สอนของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย 
เป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรมสั่งสอนสัตว์” ดังนี้.

ส่วนหนึ่งของ พระสูตร เกี่ยวกับ"ความเป็นพระโสดาบัน"

การวางจิตเมื่อถูกกล่าวหา


ภิกษุ ท. ! ทางแห่งถ้อยคำที่บุคคลอื่นจะพึง
กล่าวหาเธอ ๕ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่ คือ:-

๑. กล่าวโดยกาลหรือโดยมิใช่กาล
๒. กล่าวโดยเรื่องจริงหรือโดยเรื่องไม่จริง
๓. กล่าวโดยอ่อนหวานหรือโดยหยาบคาย
๔. กล่าวด้วยเรื่องมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์
๕. กล่าวด้วยมีจิตเมตตาหรือมีโทสะในภายใน

ภิกษุ ท. ! เมื่อเขากล่าวอยู่อย่างนั้น ในกรณีนั้น ๆ
เธอพึงทำการสำเหนียกอย่างนี้ว่า
“จิตของเรา จักไม่แปรปรวน เราจักไม่กล่าว วาจาอันเป็นบาป 
เราจักเป็นผู้มีจิตเอ็นดูเกื้อกูล มีจิต ประกอบด้วยเมตตา ไม่มีโทสะในภายใน อยู่, จักมี
จิตสหรคตด้วยเมตตาแผ่ไปยังบุคคลนั้น อยู่ และจักมี จิตสหรคตด้วยเมตตา 
อันเป็นจิตไพบูลย์ ใหญ่หลวง ไม่มีประมาณ ไม่มีเวร ไม่มีพยาบาท แผ่ไปสู่โลกถึงที่สุด
ทุกทิศทาง มีบุคคลนั้นเป็นอารมณ์ แล้วแลอยู่” ดังนี้.

วาจาของอสัตบุรุษ (ผู้ประพฤติชั่ว. ทั้งทางกาย,วาจา,และใจ..เป็นปกติ)

(อสัตบุรุษ....คือ....ผู้ประพฤติชั่ว..... ทั้งทางกาย....วาจา....และใจ..เป็นปกติ.)
 
ภิกษุ ท ! บุคคลประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ เป็นที่รู้กันว่าเป็น "อสัตบุรุษ."
๔ ประการ อย่างไรเล่า ? ๔ ประการ คือ :-

ภิกษุ ท. ! อสัตบุรุษในกรณีนี้ "แม้ไม่มีใคร ถามถึงความไม่ดีของบุคคลอื่น 
ก็นำมาเปิดเผยให้ปรากฏ"
ไม่ต้องกล่าวถึงเมื่อถูกใครถาม; ก็เมื่อถูกใครถามถึง ความไม่ดีของบุคคลอื่น
ก็นำเอาปัญหาไปทำให้ไม่มีทาง หลีกเลี้ยวลดหย่อน แล้วกล่าวความไม่ดีของผู้อื่นอย่าง
เต็มที่โดยพิสดาร. ภิกษุ ท. ! ข้อนี้พึงรู้กันเถิดว่า คนคนนี้
เป็น อสัตบุรุษ.

วันพฤหัสบดีที่ 12 มกราคม พ.ศ. 2555

การรู้อริยสัจสี่ ทำให้มีตาสมบูรณ์


ภิกษุ ท. ! บุคคล ๓ จำพวกนี้มีอยู่ หาได้อยู่
ในโลก. สามจำพวกอย่างไรเล่า ? สามจำพวกคือ :- 
- คนตาบอด (อนฺโธ),
- คนมีตาข้างเดียว (เอกจกฺขุ),
- คนมีตาสองข้าง (ทฺวิจกฺขุ).

ภิกษุ ท. ! คนตาบอดเป็นอย่างไรเล่า ?
คือคนบางคนในโลกนี้
ไม่มีตาที่เป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์ที่ยังไม่ได้
หรือทำโภคทรัพย์ที่ได้แล้วให้ทวีมากขึ้น นี้อย่างหนึ่ง;
และไม่มีตาที่เป็นเหตุให้รู้ธรรมที่เป็นกุศลและอกุศล
- ธรรมมีโทษและไม่มีโทษ
- ธรรมเลวและธรรมประณีต
- ธรรมฝ่ายดำและธรรมฝ่ายขาว นี้อีกอย่างหนึ่ง.
ภิกษุ ท. ! นี้แล คนตาบอด (ทั้งสองข้าง).

วันศุกร์ที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2555

กิจของชาวนา


ภิกษุ ท.! กิจของคฤหบดีชาวนาที่เจาจะต้องทำก่อน (แห่งการได้มาซึ่งข้าวเปลือก) มีสามอย่างเหล่านี้. สาม
อย่างอะไรบ้างเล่า ? สามอย่างคือ

คฤหบดีชาวนาในโลกนี้ ไถ คราด พื้นที่นาให้ดีเสียก่อน, ครั้นแล้วปลูกพืชลงในเวลาอันควร, ครั้นแล้ว ไข
น้ำเข้าบ้าง ไขน้ำออกบ้าง ตามคราวที่สมควร.

ภิกษุ ท.! กิจของคฤหบดีชาวนาที่เขาจะต้องทำก่อน (แห่งการได้มาซึ่งข้าวเปลือก) มีสามอย่างเหล่านี้แล ;

ภิกษุ ท.! ฉันใดก็ฉันนั้น : กิจที่ภิกษุจะต้องทำก่อน (แห่งการได้มาซึ่งมรรคผล) มีสามอย่างเหล่านี้. สาม
อย่างอะไรกันเล่า ? สามอย่างคือ

การสมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง, การสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง, และการสมาทานการปฏิบัติในปัญญาอันยิ่ง.

ภิกษุ ท.! กิจที่ภิกษุจะต้องทำก่อน (แห่งการได้มาซึ่งมรรคผล) มีสามอย่างเหล่านี้แล.
ภิกษุ ท.! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้ พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้ว่า “ความพอใจของเราจักต้องเข้มงวดพอ ในการสมาทานการปฏิบัติในศีลอันยิ่ง, ในการสมาทานการปฏิบัติในจิตอันยิ่ง และในการสมาทานการปฏิบัติปัญญาอันยิ่ง” ดังนี้

ภิกษุ ท.! พวกเธอทั้งหลาย พึงสำเหนียกใจไว้อย่างนี้แล.

ติก. อํ. ๒๐/๒๙๕/๕๒๓.