วันพุธที่ 27 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ให้พึ่งตน พึ่งธรรม

ให้พึ่งตน พึ่งธรรม


อานนท์ ! เราได้กล่าวเตือนไว้ก่อนแล้วมิใช่
หรือว่า “ความเป็นต่าง ๆ ความพลัดพราก ความเป็น
อย่างอื่น จากของรักของชอบใจทั้งสิ้น ย่อมมี; อานนท์ !
ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า : สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว
อันปัจจัยปรุงแล้ว มีความชำรุดไปเป็นธรรมดา, สิ่งนั้น
อย่าชำรุดไปเลย ดังนี้; ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้”.

อานนท์ ! เปรียบเหมือนเมื่อต้นไม้ใหญ่ มีแก่น
เหลืออยู่ ส่วนใดเก่าคร่ำกว่าส่วนอื่น ส่วนนั้นพึงย่อยยับ
ไปก่อน, ข้อนี้ ฉันใด; อานนท์ ! เมื่อภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่มี
ธรรมเป็นแก่นสารเหลืออยู่, สารีบุตรปรินิพพานไปแล้ว
ฉันนั้นเหมือนกัน. อานนท์ ! ข้อนั้น จักได้มาแต่ไหนเล่า :
สิ่งใดเกิดขึ้นแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยปรุงแล้ว มีความ
ชำรุดไปเป็นธรรมดา สิ่งนั้นอย่าชำรุดไปเลย ดังนี้;
ข้อนั้น ย่อมเป็นฐานะที่มีไม่ได้.

อานนท์ ! เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้
พวกเธอทั้งหลาย จงมีตนเป็นประทีป
มีตนเป็นสรณะ ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ;
จงมีธรรมเป็นประทีป มีธรรมเป็นสรณะ
ไม่เอาสิ่งอื่นเป็นสรณะ.

วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ตามดู ไม่ตามไป


มนุษย์เป็นสัตว์ที่สื่อสารกันด้วยระบบภาษาที่ซับซ้อน ทั้งโครงสร้างและความหมาย
วจีสังขาร ที่มนุษย์ปรุงแต่งขึ้นนั้น มีความวิจิตรเทียบเท่าดุจความละเอียดของจิต
ทั้งนี้ เพราะ จิตเป็นตัวสร้างการหมายรู้ต่าง ๆ (จิต เป็นเหตุในการเกิดของนามรูป
และนามรูปซึ่งจิตสร้างขึ้นนั้น เป็นเหตุในการดำรงอยู่ได้ของจิต)

ถ้อยคำหนึ่ง ๆ ในภาษาหนึ่ง ๆ เมื่อนำไปวางไว้ในบริบทต่าง ๆ กัน ก็มีความหมายต่างกัน
ยิ่งไปกว่านั้น ถ้อยคำหนึ่ง ๆ ในบริบทเดียวกัน สามารถถูกเข้าใจต่างกันในความหมายได้
ขึ้นอยู่กับการหมายรู้เฉพาะของจิตผู้รับสาร  ซึ่งก็มีอนุสัยในการปรุงแต่งแตกต่างกันไป
ความหยาบละเอียดในอารมณ์  อันมีประมาณต่าง ๆ แปรผันไปตามการหมายรู้นั้น ๆ
การสื่อความให้เข้าใจตรงกัน จึงไม่ใช่เรื่องง่าย แม้เรื่องราวในระดับชีวิตประจำวัน
แม้ในระหว่างบุคคลที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด เช่น ในครอบครัวเดียวกันก็ตาม

การผิดใจกันที่มีเหตุมาจากการสื่อความหมายที่ไม่ตรง ก็มีให้เห็นเป็นเรื่องปกติ
กับกรณีของปรากฏการณ์ทางจิต ซึ่งมีมิติละเอียดปราณีตที่สุดในระบบสังขตธรรม
ใครเล่า จะมีความสามารถในการบัญญัติระบบคำพูด ที่ใช้ถ่ายทอดบอกสอนเรื่องจิตนี้
ให้ออกมาได้เป็นหลักมาตรฐานเดียว และใช้สื่อเข้าใจตรงกันได้ โดยไม่จำกัดกาลเวลา

“ดูกายดูใจ” “ดูจิต” “ตามดูตามรู้”
ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า วลีข้างต้นนั้น ถูกใช้พูดกันทั่วไปเป็นปกติในหมู่นักภาวนา
ปกติจนเรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในสิ่งที่ถูกมองข้ามเพิกเฉย (take for granted) ไป
ราวกับว่า ใคร ๆ ก็รู้กันหมดแล้ว เหมือนคำที่ใช้กันเป็นประจำ เช่น กินข้าว อาบน้ำ ฯ
หากพิจารณาให้ดี จะพบจุดสังเกตุ ๒ ข้อ

วันพุธที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

บทสวดระลึกถึงพระธรรม



ส๎วากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม
พระธรรม เป็นสิ่งที่พระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ตรัสไว้ดีแล้ว

สันทิฏฐิโก
เป็นสิ่งที่ผู้ศึกษาและปฏิบัติ พึงเห็นได้ด้วยตนเอง

อะกาลิโก
เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ ไม่จำ กัดกาล

เอหิปัสสิโก
เป็นสิ่งที่ปฏิบัติได้และให้ผลได้ ไม่จำกัดกาล

โอปะนะยิโก
เป็นสิ่งที่ควรน้อมเข้ามาใส่ตัว

ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูหีติ
เป็นสิ่งที่ผู้รู้ก็รู้ได้เฉพาะตน ดังนี้

สํ. มหาวาร. ๑๙/๔๒๗/๑๔๑๒

วันจันทร์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย เพราะไม่รู้อริยสัจ

สัตว์เกิดกลับมาเป็นมนุษย์มีน้อย
เพราะไม่รู้อริยสัจ


ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้
ว่าอย่างไร : ฝุ่นนิดหนึ่งที่เราช้อนขึ้นด้วยปลายเล็บนี้
กับมหาปฐพีนี้ ข้างไหนจะมากกว่ากัน ?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! มหาปฐพีนั่นแหละเป็นดินที่
มากกว่า. ฝุ่นนิดหนึ่งเท่าที่ทรงช้อนขึ้นด้วยปลายพระนขานี้ เป็นของมี
ประมาณน้อย. ฝุ่นนั้น เมื่อนำเข้าไปเทียบกับมหาปฐพี ย่อมไม่ถึงซึ่ง
การคำนวณได้ เปรียบเทียบได้ ไม่เข้าถึงแม้ซึ่งกะละภาค (ส่วนเสี้ยว)”

ภิกษุ ท. ! อุปมานี้ฉันใด อุปไมยก็ฉันนั้น :
สัตว์ที่เกิดกลับมาสู่หมู่มนุษย์ มีน้อย; สัตว์ที่เกิดกลับมา
เป็นอย่างอื่นจากหมู่มนุษย์ มีมากกว่าโดยแท้. ข้อนั้น
เพราะเหตุไรเล่า ? ภิกษุ ท. ! ข้อนั้น เพราะความที่
สัตว์เหล่านั้นไม่เห็นอริยสัจทั้งสี่.

อริยสัจสี่ อย่างไรเล่า ? สี่อย่าง คือ :-
อริยสัจคือทุกข์
อริยสัจคือเหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์
อริยสัจคือความดับไม่เหลือแห่งทุกข์
อริยสัจคือทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือ
แห่งทุกข์.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ เธอพึง
ประกอบโยคกรรม๑ อันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า “ทุกข์
เป็นอย่างนี้, เหตุเกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ความดับ
ไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้, ทางดำเนินให้ถึงความดับ
ไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้” ดังนี้.

มหาวาร. สํ. ๑๙/๕๗๘/๑๗๕๗.

สิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะได้

สิ่งที่ทุกคนปรารถนาจะได้

คหบดี ! ธรรม ๔ ประการนี้ น่าปรารถนา
น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.
ธรรม ๔ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ? คือ :-
ขอโภคะจงเกิดขึ้นแก่เราโดยทางธรรม นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๑ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยาก
ในโลก.
เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ขอยศจง
เฟื่องฟูแก่เราพร้อมด้วยญาติและมิตรสหาย นี้เป็นธรรม
ประการที่ ๒ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ
หาได้ยากในโลก.

เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศ
พร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว ขอเราจงเป็นอยู่นาน
จงรักษาอายุให้ยั่งยืน นี้เป็นธรรม ประการที่ ๓ อันน่า
ปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.
เราได้โภคะทั้งหลายโดยทางธรรมแล้ว ได้ยศ
พร้อมด้วยญาติและมิตรสหายแล้ว เป็นอยู่นานรักษา อายุ
ให้ยั่งยืนแล้ว เมื่อตายแล้ว ขอเราจงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
นี้เป็นธรรม ประการที่ ๔ อันน่าปรารถนา น่ารักใคร่
น่าพอใจ หาได้ยากในโลก.

การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด

การตอบแทนคุณมารดาบิดาอย่างสูงสุด

ภิกษุ ท. ! เรากล่าวการกระทำตอบแทนไม่ได้ง่าย
แก่ท่านทั้งสอง. ท่านทั้งสอง คือใคร ?
คือ มารดา ๑ บิดา ๑

ภิกษุ ท. ! บุตรพึงประคับประคองมารดาด้วย
บ่าข้างหนึ่ง พึงประคับประคองบิดาด้วยบ่าข้างหนึ่ง เขามี
อายุ มีชีวิตอยู่ตลอดร้อยปี และเขาพึงปฏิบัติท่านทั้งสองนั้น
ด้วยการอบกลิ่น การนวด การให้อาบน้ำ และการดัด และ
ท่านทั้งสองนั้น พึงถ่ายอุจจาระปัสสาวะบนบ่าทั้งสองของเขา
นั่นแหละ. ภิกษุ ท.! การกระทำอย่างนั้นยังไม่ชื่อว่า
อันบุตรทำแล้วหรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย.

ภิกษุ ท. ! อนึ่ง บุตรพึงสถาปนามารดาบิดาใน
ราชสมบัติ อันเป็นอิสราธิปัตย์ ในแผ่นดินใหญ่อันมีรตนะ
๗ ประการมากหลายนี้ การกระทำกิจอย่างนั้น ยังไม่ชื่อว่า
อันบุตรทำแล้ว หรือทำตอบแทนแล้วแก่มารดาบิดาเลย

น้ำติดก้นกะลา

น้ำติดก้นกะลา๑


“ราหุล ! เธอเห็นน้ำที่เหลืออยู่นิดหนึ่งที่ก้นภาชนะนี้หรือ ?”
“เห็นแล้ว พระเจ้าข้า !”
“ราหุล ! นักบวชที่ไม่มีความละอายในการแกล้งกล่าวเท็จ ทั้งที่รู้
อยู่ว่าเป็นเท็จ ก็ มีความเป็นสมณะนิดเดียว เหมือนน้ำที่เหลืออยู่ที่ก้นภาชนะนี้
ฉันนั้น”

พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงสาดน้ำนั้นเทไป (ด้วยอาการที่น้ำจะเหลือติดอยู่ได้น้อยที่สุดเป็นธรรมดา) แล้ว
ตรัสว่า :-
“ราหุล ! เธอเห็นน้ำที่ถูกสาดเทไปแล้ว มิใช่หรือ ?”
“เห็นแล้ว พระเจ้าข้า !”

“ราหุล ! นักบวช ที่ไม่มีความละอายในการแกล้งกล่าวเท็จ ทั้งที่รู้อยู่
ว่าเป็นเท็จ ก็ มีความเป็นสมณะ เหลืออยู่น้อย เหมือนน้ำที่สักว่าเหลือติดอยู่ตาม
ภาชนะ (หลังจากที่สาดเทออกไปแล้วโดยแรง) นี้ ฉันนั้น”.

ไม่อาจที่จะหลุดพ้นไปจากทุกข์

ไม่อาจที่จะหลุดพ้นไปจากทุกข์


ภิกษุทั้งหลาย !
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน รูป
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน เวทนา
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน สัญญา
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน สังขารทั้งหลาย
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์...
ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน วิญญาณ
ผู้นั้น เท่ากับเพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์

เรากล่าวว่า
“ผู้ใด เพลิดเพลินอยู่ ใน สิ่งที่เป็นทุกข์
ผู้นั้น ย่อมไม่หลุดพ้นไปได้จากทุกข์” ดังนี้.

ขนฺธ. สํ. ๑๗/๓๙/๖๔.

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์ หมวดที่ ๑ ว่าด้วย การทุศีล

ขุมทรัพย์จากพระโอษฐ์
หมวดที่ ๑
ว่าด้วย การทุศีล
ผ้าเปลือกปอ๑

ภิกษุ ท. ! ผ้าทอด้วยเปลือกปอ ถึงจะยังใหม่อยู่ สีก็ไม่งาม นุ่งห่ม
เข้าก็เจ็บเนื้อ ราคาก็ถูก, แม้จะกลางใหม่กลางเก่าแล้ว สีก็ยังไม่งาม
นุ่งห่มเข้าก็ยังเจ็บเนื้อ ราคาก็ถูกมาก, แม้จะเก่าคร่ำแล้ว สีก็ยังไม่งาม
นุ่งห่มเข้าก็ยังเจ็บเนื้อ ราคาก็ถูกมากอยู่นั่นเอง. ผ้าเปลือกปอ ที่เก่าคร่ำแล้ว
มีแต่จะถูกใช้เช็ดหม้อข้าว หรือทิ้งอยู่ตามกองขยะมูลฝอย นี้ฉันใด ;

ภิกษุ ท. ! ภิกษุ ที่ทุศีล มีความเป็นอยู่เลวทราม ก็ฉันนั้นเหมือนกัน :
แม้เพิ่งบวชใหม่ เราก็กล่าวว่า มีผิวพรรณไม่งาม เหมือนผ้าเปลือกปอ
ที่ มีสีไม่งาม นั้นนั่นแหละ. เรากล่าวภิกษุนี้ ว่า มีผ้าเปลือกปอ
เป็นคู่เปรียบ. อนึ่ง ชนเหล่าใด คบหา สมาคม เข้าใกล้ ทำตามเยี่ยงอย่าง
ของภิกษุนั้น ข้อนั้น จะเป็นทางให้เกิดสิ่งอันไม่เป็นประโยชน์ เป็นทุกข์
แก่ชนเหล่านั้นเอง ตลอดกาลนาน ; เราจึงกล่าวภิกษุนั้นว่า ใครใกล้ชิดเข้า
ก็เจ็บเนื้อ เหมือนผ้าเปลือกปอ นุ่งห่มเข้าก็เจ็บเนื้อ ฉะนั้น. เรากล่าว

ภิกษุนี้ ว่ามีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ. อนึ่ง ภิกษุนั้น รับจีวร บิณฑบาต
เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริกขาร ของชนเหล่าใด ทานนั้นย่อมไม่มีผลใหญ่
ไม่มีอานิสงส์ใหญ่แก่ชนเหล่านั้น. เรากล่าวภิกษุนั้นว่า มีค่าน้อย เหมือนผ้าเปลือก
ปอ มีราคาถูก ฉะนั้น. เรากล่าวภิกษุนั้นว่า มีผ้าเปลือกปอเป็นคู่เปรียบ.

วันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เหตุเกิดของ “กรรม” ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งกรรม ๓ อย่าง

เหตุเกิดของ “กรรม”
ว่าด้วยเหตุเกิดแห่งกรรม ๓ อย่าง


ภิกษุ ท. ! เหตุ ๓ ประการนี้ เป็นไปเพื่อความ
เกิดขึ้นพร้อมมูลแห่งกรรม.
เหตุ ๓ ประการ คืออะไรบ้างเล่า ?

คือ ความพอใจ เกิด เพราะปรารภธรรมทั้งหลาย
อันเป็นฐานแห่งฉันทราคะ (ความรักใคร่ พอใจ) ที่เป็นอดีต ๑,
ความพอใจ เกิด เพราะปรารภธรรมทั้งหลาย
อันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคต ๑,
ความพอใจ เกิด เพราะปรารภธรรมทั้งหลาย
อันเป็นฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นปัจจุบัน ๑.
ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็น
ฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีต เป็นอย่างไรเล่า ?

คือบุคคลตรึกตรองไปถึงธรรมอันเป็นฐานแห่ง
ฉันทราคะที่ล่วงไปแล้ว เมื่อตรึกตรองตามไป ความพอใจ
ก็เกิดขึ้น ผู้เกิดความพอใจแล้ว ก็ชื่อว่าถูกธรรมเหล่านั้น
ผูกไว้แล้ว เรากล่าวความติดใจนั้น ว่าเป็นสังโยชน์ (เครื่อง
ผูก) ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลาย อันเป็น
ฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอดีต เป็นอย่างนี้แล.
ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลายอันเป็น
ฐานแห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคต เป็นอย่างไรเล่า ?
คือบุคคลตรึกตรองไปถึงธรรมอันเป็นฐานแห่ง
ฉันทราคะที่ยังไม่มาถึง เมื่อตรึกตรองตามไป ความพอใจ
ก็เกิดขึ้น ผู้เกิดความพอใจแล้ว ก็ชื่อว่าถูกธรรมเหล่านั้น
ผูกไว้แล้ว เรากล่าวความติดใจนั้น ว่าเป็นสังโยชน์
ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลาย อันเป็นฐาน
แห่งฉันทราคะที่เป็นอนาคต เป็นอย่างนี้แล.
ความพอใจเกิดเพราะปรารภธรรมทั้งหลาย

วันอังคารที่ 12 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

อานิสงส์แห่งอานาปานสติ ๗ ประการ

อานิสงส์แห่งอานาปานสติ
๗ ประการ


ภิกษุ ท. ! อานาปานสติอันบุคคลเจริญ กระทำ
ให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ก็อานาปานสติ
อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ?

ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือโคนไม้
หรือเรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ ตั้งกายตรง ดำรง
สติเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก :
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว,
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น,
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำ
กายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้ทำ
กายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะ
ซึ่งปีติ หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า”, ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะ
ซึ่งสุข หายใจออก”;

จิตมีตัณหา เรียกว่าอยู่สองคน ,จิตไม่มีตัณหา เรียกว่าอยู่คนเดียว

จิตมีตัณหา เรียกว่าอยู่สองคน
จิตไม่มีตัณหา เรียกว่าอยู่คนเดียว


ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ ภิกษุ
จึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง พระเจ้าข้า ?”


มิคชาละ ! รูป ทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วย
จักษุ อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มี
ลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่
เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจมีอยู่. ถ้าหากว่าภิกษุ
ย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูป นั้น ไซร้ ;
แก่ภิกษุผู้เพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบ มัว
เมา ซึ่งรูปนั้นอยู่ นั่นแหละ, นันทิ (ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น.
เมื่อ นันทิ มีอยู่, สาราคะ (ความพอใจอย่างยิ่ง) ย่อมมี ;
เมื่อ สาราคะ มีอยู่, สัญโญคะ (ความผูกจิตติดกับ
อารมณ์) ย่อมมี :

มิคชาละ ! ภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วย
การผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน
นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง”.
(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหูก็ดี,
กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูกก็ดี, รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วย
ลิ้นก็ดี, โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกายก็ดี, และ
ธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจก็ดี, พระผู้มีพระภาคเจ้า
ได้ตรัสไว้มีนัยยะอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทั้งหลายอันจะพึง
เห็นด้วยจักษุ).

ผู้เข้าไปหา เป็นผู้ไม่หลุดพ้น

ผู้เข้าไปหา เป็นผู้ไม่หลุดพ้น


ผู้ไม่เข้าไปหา ย่อมเป็นผู้หลุดพ้น
ภิกษุ ท. ! ผู้เข้าไปหา เป็นผู้ไม่หลุดพ้น ; ผู้
ไม่เข้าไปหา เป็นผู้หลุดพ้น.
ภิกษุ ท. ! วิญญาณ ซึ่ง เข้าถือเอารูป ตั้งอยู่ ก็
ตั้งอยู่ได้, เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้ง
อาศัย มี นันทิ (ความเพลิน) เป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึง
ความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้ ;

ภิกษุ ท. ! วิญญาณ ซึ่ง เข้าถือเอาเวทนา
ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้, เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์ มี
เวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย มี นันทิ (ความเพลิน) เป็นที่เข้า
ไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้ ;
ภิกษุ ท. ! วิญญาณ ซึ่ง เข้าถือเอาสัญญา
ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้, เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์ มี
สัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย มี นันทิ (ความเพลิน) เป็นที่เข้า
ไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้ ;

โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก

โอกาสในการเกิดเป็นมนุษย์นั้นแสนยาก


ภิกษุ ท. ! ถ้าสมมติว่า มหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้
มีน้ำท่วมถึงเป็นอันเดียวกันทั้งหมด; บุรุษคนหนึ่ง ทิ้งแอก
(ไม้ไผ่ ?) ซึ่งมีรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น; ลม
ตะวันออกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก, ลมตะวันตก
พัดให้ลอยไปทางทิศตะวันออก, ลมทิศเหนือพัดให้ลอยไป
ทางทิศใต้, ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนือ, อยู่ดังนี้
ในน้ำนั้น มีเต่าตัวหนึ่ง ตาบอด ล่วงไปร้อย ๆ ปี มันจะผุด
ขึ้นมาครั้งหนึ่ง ๆ

ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลาย จะสำคัญความข้อนี้
ว่าอย่างไร : จะเป็นไปได้ไหม ที่เต่าตาบอด ร้อยปีจึงจะผุดขึ้น
สักครั้งหนึ่ง จะพึงยื่นคอเข้าไปในรูซึ่งมีอยู่เพียงรูเดียว
ในแอกนั้น ?

จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ

จงสงเคราะห์ผู้อื่นด้วยการให้รู้อริยสัจ

ภิกษุ ท. ! พวกเธอเอ็นดูใคร และใครถือว่าเธอ
เป็นผู้ที่เขาควรเชื่อฟัง เขาจะเป็นมิตรก็ตาม อำมาตย์ก็ตาม
ญาติหรือสายโลหิตก็ตาม;
ชนเหล่านั้น อันเธอพึงชักชวนให้เข้าไปตั้งมั่น
ในความจริงอันประเสริฐสี่ประการ
ด้วยปัญญาอันรู้เฉพาะตามที่เป็นจริง
ความจริงอันประเสริฐสี่ประการอะไรเล่า ?

สี่ประการคือ
ความจริงอันประเสริฐคือ ทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดแห่งทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับ
ไม่เหลือแห่งทุกข์.

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้
เธอพึงประกอบโยคกรรมอันเป็นเครื่องกระทำให้รู้ว่า
“ทุกข์ เป็นอย่างนี้,
เหตุให้เกิดขึ้นแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้,
ทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งทุกข์ เป็นอย่างนี้”
ดังนี้.

มหาวาร. ส°. ๑๙/๕๔๔/๑๗๐๖.

พระพุทธองค์ ทรงพระนามว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธะ” ก็เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจสี่

พระพุทธองค์ ทรงพระนามว่า
“อรหันตสัมมาสัมพุทธะ”
ก็เพราะได้ตรัสรู้อริยสัจสี่


ภิกษุ ท. ! ความจริงอันประเสริฐสี่อย่างเหล่านี้
สี่อย่างเหล่าไหนเล่า ?
สี่อย่างคือ
ความจริงอันประเสริฐคือ ความทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือของทุกข์
และความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับ
ไม่เหลือของทุกข์ :
นี้แลความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.
ภิกษุ ท. ! เพราะได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งความ
จริงอันประเสริฐสี่อย่างเหล่านี้ ตถาคต จึงมีนามอันบัณฑิต
กล่าวว่า “อรหันตสัมมาสัมพุทธะ”.
ภิกษุ ท. !
เพราะเหตุนั้นในกรณีนี้
พวกเธอพึงทำความเพียรเพื่อให้รู้ตามเป็นจริงว่า
“นี้เป็นทุกข์,
นี้เป็นเหตุให้เกิดทุกข์,
นี้เป็นความดับไม่เหลือของทุกข์,
และนี้เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของทุกข์”
ดังนี้เถิด.

มหาวาร. ส°. ๑๙/๕๔๓/๑๗๐๓.

วันจันทร์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พระโสดาบันเป็นใคร(นัยที่หนึ่ง)

พระโสดาบันเป็นใคร(นัยที่หนึ่ง)


ภิกษุ ท. ! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ถึงพร้อมแล้วด้วย ธรรม ๔ ประการนี้เอง จึงเป็น
พระโสดาบัน ผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ต่อ
พระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะตรัสรู้ธรรมได้ในกาลเบื้องหน้า.
ธรรม ๔ ประการนั้นเป็นอย่างไร ? ๔ ประการนั้น คือ : -

(๑) ภิกษุ ท. ! สาวกของพระอริยเจ้าในธรรมวินัยนี้
เป็นผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น
ไม่หวั่นไหวในองค์พระพุทธเจ้า ว่าเพราะเหตุอย่างนี้ ๆ
พระผู้มีพระภาคเจ้านั้น เป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้
ชอบได้โดยพระองค์เอง เป็นผู้ถึงพร้อมด้วยวิชชาและ
ข้อปฏิบัติให้ถึงวิชชา เป็นผู้ไปแล้วด้วยดี เป็นผู้รู้โลก
อย่างแจ่มแจ้ง เป็นผู้สามารถฝึกคนที่ควรฝึกได้อย่างไม่มี
ใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้รู้
ผู้ตื่น ผู้เบิกบานด้วยธรรม เป็นผู้มีความจำเริญ จำแนกธรรม
สั่งสอนสัตว์ ดังนี้.


ก่อให้เกิดอนุสัยทั้ง ๓

ก่อให้เกิดอนุสัยทั้ง ๓

ภิกษุทั้งหลาย !
เพราะอาศัย ตา ด้วย รูปทั้งหลาย ด้วย จึงเกิด จักขุวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...
เพราะอาศัย หู ด้วย เสียงทั้งหลาย ด้วย จึงเกิดโสตวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...
เพราะอาศัย จมูก ด้วย กลิ่นทั้งหลาย ด้วย จึงเกิดฆานวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...
เพราะอาศัย ลิ้น ด้วย รสทั้งหลาย ด้วย จึงเกิดชิวหาวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...
เพราะอาศัย กาย ด้วย โผฏฐัพพะทั้งหลาย ด้วย จึงเกิดกายวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย...
เพราะอาศัย ใจ ด้วย ธรรมารมณ์ทั้งหลาย ด้วย จึงเกิดมโนวิญญาณ
การประจวบพร้อมแห่งธรรม ๓ ประการนั่น คือ ผัสสะ;
เพราะมีผัสสะเป็นปัจจัย
จึงเกิดเวทนา อันเป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขบ้าง.

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี

ฆราวาสคับแคบ เป็นทางมาแห่งธุลี


ภิกษุ ท. ! ตถาคตเกิดขึ้นในโลกนี้ เป็นพระอรหันต์
ผู้ตรัสรู้ชอบด้วยตนเอง สมบูรณ์ด้วยวิชชาและจรณะ
ดำเนินไปดี รู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกคนที่ควรฝึกไม่มี
ใครยิ่งกว่า เป็นครูของเทวดาและมนุษย์ เป็นผู้เบิกบาน
แล้วจำแนกธรรมออกสั่งสอนสัตว์.

ภิกษุ ท. ! ตถาคตนั้น ได้ทำให้แจ้งซึ่งโลกนี้
กับทั้งเทวดา มาร พรหม ซึ่งหมู่สัตว์ กับทั้งสมณพราหมณ์
พร้อมทั้งเทวดาและมนุษย์ ด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้ว
ประกาศให้ผู้อื่นรู้แจ้งตาม
ตถาคตนั้น แสดงธรรมไพเราะ ในเบื้องต้น
ในท่ามกลาง และในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้ง
อรรถะ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง.
คหบดีหรือบุตรคหบดี หรือคนที่เกิดในตระกูล
อื่นใดในภายหลัง ย่อมฟังธรรมนั้น. ครั้นฟังแล้ว ย่อมเกิด
ศรัทธาในตถาคต. กุลบุตรนั้นผู้ประกอบอยู่ด้วยศรัทธา
ย่อมพิจารณาเห็นว่า

อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ

อานิสงส์สูงสุดแห่งอานาปานสติ(๒ ประการ)

ภิกษุ ท. ! อานาปานสติอันบุคคลเจริญ กระทำ
ให้มากแล้ว ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ก็อานาปานสติ
อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่ ?
ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ ภิกษุไปแล้วสู่ป่า หรือ
โคนไม้ หรือเรือนว่างก็ตาม นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบ
ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า เธอนั้น มีสติหายใจเข้า
มีสติหายใจออก :
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว,
เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว;
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น,
เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อม
เฉพาะซึ่งกายทั้งปวง (สพฺพกายปฏิสํเวที) หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”;
เธอย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำ
กายสังขารให้รำงับอยู่ (ปสฺสมฺภยํ กายสงฺขารํ) หายใจเข้า”,
ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ หายใจออก”;

รายละเอียดที่บุคคลควรทราบเกี่ยวกับเรื่องกรรม

รายละเอียดที่บุคคลควรทราบเกี่ยวกับเรื่องกรรม


ภิกษุ ท. ! กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ
นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกรรม เป็นสิ่งที่
บุคคลควรทราบ,
เวมัตตตา (ความมีประมาณต่างๆ) แห่งกรรม เป็นสิ่ง
ที่บุคคลควรทราบ,
วิบาก (ผลแห่งการกระทำ) แห่งกรรม เป็นสิ่งที่
บุคคลควรทราบ,
กัมมนิโรธ (ความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นสิ่งที่
บุคคลควรทราบ,
กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับ
ไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ ...... คำที่
เรากล่าวแล้วดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ?
ภิกษุ ท. ! เรากล่าวซึ่งเจตนา ว่าเป็น กรรม
เพราะว่าบุคคลเจตนาแล้ว ย่อมกระทำซึ่งกรรม ด้วยกาย
แก้กรรม ? ๓
ด้วยวาจา ด้วยใจ.

ภพแม้ชั่วขณะดีดนิ้วมือก็ยังน่ารังเกียจ

ภพแม้ชั่วขณะดีดนิ้วมือก็ยังน่ารังเกียจ


ภิกษุ ท. ! คูถ แม้นิดเดียว ก็เป็นของมีกลิ่น
เหม็น ฉันใด, ภิกษุ ท. ! สิ่งที่เรียกว่า ภพ (ผลแห่ง
ภวตัณหา) ก็ฉันนั้นเหมือนกัน, แม้มีประมาณน้อย
ชั่วลัดนิ้วมือเดียว ก็ไม่มีคุณอะไรที่พอจะกล่าวได้.
เอก. อํ. ๒๐ / ๔๖ / ๒๐๓.
(ในสูตรถัดไป ได้ตรัสอุปมาด้วยมูตร ด้วยน้ำลาย ด้วยหนอง ด้วยโลหิต
โดยทำนองเดียวกัน ๒๐ / ๔๖ / ๒๐๔).

มนุษย์เป็นอันมากได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิด ๆ

มนุษย์เป็นอันมากได้ยึดถือเอาที่พึ่งผิด ๆ

มนุษย์ทั้งหลายเป็นอันมาก ถูกความกลัวคุกคาม
เอาแล้ว ย่อมยึดถือเอาภูเขาบ้าง ป่าไม้ที่ศักดิ์สิทธิ์บ้าง
สวนศักดิ์สิทธิ์บ้าง รุกขเจดีย์บ้าง ว่าเป็นที่พึ่งของตน ๆ :
นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันทำความเกษมให้ได้เลย, นั่นไม่ใช่ที่พึ่ง
อันสูงสุด; ผู้ใดถือเอาสิ่งนั้น ๆ เป็นที่พึ่งแล้ว ย่อมไม่หลุดพ้น
ไปจากทุกข์ทั้งปวงได้.

ส่วนผู้ใด ที่ถึงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์
เป็นที่พึ่งแล้ว เห็นอริยสัจทั้งสี่ ด้วยปัญญาอันถูกต้อง คือ
เห็นทุกข์, เห็นเหตุเป็นเครื่องให้เกิดขึ้นของทุกข์, เห็น
ความก้าวล่วงเสียได้ซึ่งทุกข์, และเห็นมรรคประกอบด้วย
องค์แปดอันประเสริฐ ซึ่งเป็นเครื่องให้ถึงความเข้าไปสงบ
รำงับแห่งทุกข์ : นั่นแหละคือ ที่พึ่งอันเกษม, นั่นคือ ที่พึ่ง
อันสูงสุด; ผู้ใดถือเอาที่พึ่งนั้นแล้ว ย่อมหลุดพ้นไปจาก
ทุกข์ทั้งปวง ได้แท้.

ธ. ขุ. ๒๕/๔๐/๒๔.

วันอาทิตย์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

แว่นส่องความเป็นพระโสดาบัน

แว่นส่องความเป็นพระโสดาบัน

อานนท์ ! เราจักแสดง ธรรมปริยายอันชื่อว่า
แว่นธรรม ซึ่งหากอริยสาวกผู้ใด ได้ประกอบพร้อมแล้ว
เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้ในข้อที่ตน
เป็นผู้มีนรกสิ้นแล้ว มีกำเนิดเดรัจฉานสิ้นแล้ว มีเปรตวิสัย
สิ้นแล้ว มีอบาย ทุคติ วินิบาตสิ้นแล้ว, ในข้อที่ตนเป็น
พระโสดาบันผู้มีอันไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา เที่ยงแท้ต่อ
พระนิพพาน เป็นผู้มีอันจะตรัสรู้ธรรมได้ในกาลเบื้องหน้า
ดังนี้.

อานนท์ ! ก็ธรรมปริยายอันชื่อว่า แว่นธรรม
ในที่นี้ เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้
ประกอบพร้อมแล้วด้วยความเลื่อมใสอันหยั่งลงมั่น
ไม่หวั่นไหวในองค์พระพุทธเจ้า.... ในองค์พระธรรม....
ในองค์พระสงฆ์....และอริยสาวกในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้
ประกอบพร้อมแล้วด้วยศีลทั้งหลายชนิดเป็นที่พอใจของ
เหล่าอริยเจ้า คือเป็นศีลที่ไม่ขาด ไม่ทะลุ ไม่ด่าง ไม่พร้อย
เป็นศีลที่เป็นไทจากตัณหา เป็นศีลที่ผู้รู้ท่านสรรเสริญ
เป็นศีลที่ทิฏฐิไม่ลูบคลำ และเป็นศีลที่เป็นไปเพื่อสมาธิ.

อานนท์ ! ธรรมปริยายอันนี้แล ที่ชื่อว่า
แว่นธรรม ซึ่งหากอริยสาวกผู้ใดได้ประกอบพร้อมแล้ว
เมื่อจำนงจะพยากรณ์ตนเอง ก็พึงทำได้, ดังนี้แล.

มหาวาร. สํ. ๑๙/๔๕๐-๔๕๑/๑๔๗๙-๑๔๘๐.

วันเสาร์ที่ 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

พระพุทธเจ้า ทั้งในอดีต, อนาคต และในปัจจุบัน ล้วนแต่ตรัสรู้อริยสัจสี่

พระพุทธเจ้า ทั้งในอดีต, อนาคต
และในปัจจุบัน ล้วนแต่ตรัสรู้อริยสัจสี่

ภิกษุ ท. ! พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใด ๆ
ได้ตรัสรู้ตามเป็นจริงไปแล้ว ในกาลยืดยาวนานฝ่ายอดีต,
ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งความจริง
อันประเสริฐสี่อย่าง.

ภิกษุ ท. ! พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าองค์ใด ๆ
จักได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ต่อกาลยืดยาวนานฝ่ายอนาคต,
ท่านทั้งหลายเหล่านั้น ก็จักได้ตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งความจริง
อันประเสริฐสี่อย่าง.
ภิกษุ ท. ! แม้พระอรหันตสัมมาสัมพุทธะ ผู้ตรัสรู้
ตามเป็นจริงอยู่ ในกาลเป็นปัจจุบันนี้ ก็ได้ตรัสรู้อยู่ซึ่ง
ความจริงอันประเสริฐสี่อย่าง.

ความจริงอันประเสริฐสี่อย่างนั้น เหล่าไหนเล่า ?
สี่อย่างคือ :
ความจริงอันประเสริฐคือ ทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ เหตุให้เกิดทุกข์,
ความจริงอันประเสริฐคือ ความดับไม่เหลือของทุกข์,
และความจริงอันประเสริฐคือ ทางดำเนินให้ถึงความดับ
ไม่เหลือของทุกข์.

วันศุกร์ที่ 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

ทรงแสดงเรื่องที่เป็นไปได้ยาก เกี่ยวกับพระองค์เอง

ทรงแสดงเรื่องที่เป็นไปได้ยากเกี่ยวกับพระองค์เอง

ภิกษุ ท. ! สมมติว่ามหาปฐพีอันใหญ่หลวงนี้
มีน้ำทั่วถึงเป็นอันเดียวกันทั้งหมด; บุรุษคนหนึ่งทิ้งแอก
(ไม้ไผ่ !) ซึ่งมีรูเจาะได้เพียงรูเดียว ลงไปในน้ำนั้น;
ลมตะวันออกพัดให้ลอยไปทางทิศตะวันตก, ลมตะวันตก
พัดให้ลอยไปทางทิศตะวันออก, ลมทิศเหนือพัดให้ลอยไป
ทางทิศใต้, ลมทิศใต้พัดให้ลอยไปทางทิศเหนือ อยู่ดังนี้.
ในน้ำนั้นมีเต่าตัวหนึ่งตาบอด ล่วงไปร้อย ๆ ปี มันจะผุด
ขึ้นมาครั้งหนึ่ง ๆ. ภิกษุ ท. ! เธอทั้งหลาย จะสำคัญความ
ข้อนี้ว่าอย่างไร : จะเป็นไปได้ไหมที่เต่าตาบอด ร้อยปีจึงจะ
ผุดขึ้นมาสักครั้งหนึ่ง จะพึงยื่นคอ เข้าไปในรู ซึ่งมีอยู่เพียง
รูเดียวในแอกนั้น ?
“ข้อนี้ยากที่จะเป็นไปได้ พระเจ้าข้า ! ที่เต่าตาบอดนั้น
ร้อยปีผุดขึ้นเพียงครั้งเดียว จะพึงยื่นคอเข้าไปในรู ซึ่งมีอยู่เพียง
รูเดียวในแอกนั้น”

วันอังคารที่ 5 กรกฎาคม พ.ศ. 2554

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน

เนื้อแท้ที่ไม่อันตรธาน

ภิกษุ ท. ! พวกภิกษุบริษัทในกรณีนี้,
สุตตันตะเหล่าใด ที่กวีแต่งขึ้นใหม่
เป็นคำร้อยกรองประเภทกาพย์กลอน
มีอักษรสละสลวย มีพยัญชนะอันวิจิตร
เป็นเรื่องนอกแนว เป็นคำกล่าวของสาวก,
เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่;
เธอจักไม่ฟังด้วยดี ไม่เงี่ยหูฟัง ไม่ตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง
และจักไม่สำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน.

ส่วนสุตตันตะเหล่าใดที่เป็นคำของตถาคต
เป็นข้อความลึก มีความหมายซึ้ง
เป็นชั้นโลกุตตระว่าเฉพาะเรื่องสุญญตา,
เมื่อมีผู้นำสุตตันตะเหล่านั้นมากล่าวอยู่;
เธอย่อมฟังด้วยดี ย่อมเงี่ยหูฟัง ย่อมตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึง
และย่อมสำคัญว่าเป็นสิ่งที่ตนควรศึกษาเล่าเรียน

จึงพากันเล่าเรียน ไต่ถาม ทวนถามแก่กันและ
กันอยู่ว่า “ข้อนี้เป็นอย่างไร ? มีความหมายกี่นัย ?” ดังนี้.
ด้วยการทำดังนี้

เธอย่อมเปิดธรรมที่ถูกปิดไว้ได้,
ธรรมที่ยังไม่ปรากฏ เธอก็จะทำให้ปรากฏได้,
ความสงสัยในธรรมหลายประการที่น่าสงสัย
เธอก็บรรเทาลงได้.

ภิกษุ ท. ! ภิกษุบริษัทเหล่านี้ เราเรียกว่า
บริษัทที่มีการลุล่วงไปได้
ด้วยการสอบถามแก่กันและกันเอาเอง,
หาใช่ด้วยการชี้แจงโดยกระจ่าง
ของบุคคลภายนอกเหล่าอื่นไม่;
จัดเป็นบริษัทที่เลิศ แล.

ทุก. อํ. ๒๐/๙๒/๒๙๒.