วันจันทร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

การดำรงชีพชอบโดยทิศ ๖ ของฆราวาส

การดำรงชีพชอบโดยทิศ ๖ ของฆราวาส


“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! ในอริยวินัย มีการนอบน้อม
ทิศทั้งหกอย่างไร พระเจ้าข้า ! พระองค์จงทรงแสดงธรรมที่เป็น
การนอบน้อมทิศทั้งหกในอริยวินัยเถิด”
คหบดีบุตร ! เมื่อใด อริยสาวกละเสียได้ซึ่ง
กรรมกิเลส ๔ ประการ ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดย
ฐานะทั้งสี่ และไม่เสพทางเสื่อม (อบายมุข) แห่งโภคะ ๖ ทาง,
เมื่อนั้น เขาชื่อว่า เป็นผู้ปราศจากกรรมอันเป็นบาป
รวม ๑๔ อย่าง เป็นผู้ปิดกั้นทิศทั้งหกโดยเฉพาะแล้ว;
ด้วยอาการอย่างนี้ ชื่อว่า เขาปฏิบัติแล้วเพื่อชนะโลกทั้งสอง,
ทั้งโลกนี้และโลกอื่น เป็นอันเขาปรารภกระทำครบถ้วนแล้ว
(อารทฺโธ), เขาเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ภายหลังแต่การตาย
เพราะการทำลายแห่งกาย, ดังนี้.

กรรมกิเลส ๔ ประการ อันอริยสาวกนั้น ละเสีย
ได้แล้ว เป็นอย่างไรเล่า ?

คหบดีบุตร ! ปาณาติบาต เป็นกรรมกิเลส.
อทินนาทาน เป็นกรรมกิเลส. กาเมสุมิจฉาจาร เป็น
กรรมกิเลส. มุสาวาท เป็นกรรมกิเลส. กรรมกิเลส ๔
ประการเหล่านี้ เป็นกรรมอันอริยสาวกนั้น ละขาดแล้ว.
อริยสาวก ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดยฐานะ
ทั้ง ๔ เป็นอย่างไรเล่า ?

ผู้ถึงซึ่งฉันทาคติ (ลำเอียงเพราะรัก) ชื่อว่ากระทำกรรม
อันเป็นบาป, ผู้ถึงซึ่งโทสาคติ (ลำเอียงเพราะเกลียด) ชื่อว่า
กระทำกรรมอันเป็นบาป, ผู้ถึงซึ่งโมหาคติ (ลำเอียงเพราะโง่เขลา)
ชื่อว่ากระทำกรรมอันเป็นบาป, ผู้ถึงซึ่งภยาคติ (ลำเอียงเพราะกลัว)
ชื่อว่ากระทำอันเป็นบาป.

คหบดีบุตร ! เมื่อใดอริยสาวกไม่ถึงซึ่งฉันทาคติ
ไม่ถึงซึ่งโทสาคติ ไม่ถึงซึ่งโมหาคติ ไม่ถึงซึ่งภยาคติ;
เมื่อนั้น ชื่อว่า ไม่กระทำกรรมอันเป็นบาปโดยฐานะทั้ง ๔
เหล่านี้, ดังนี้.
อริยสาวก ไม่เสพทางเสื่อมแห่งโภคะ ๖ ทาง
เป็นอย่างไรเล่า ?

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2554

ผู้ชี้ขุมทรัพย์

ผู้ชี้ขุมทรัพย์ !
อานนท์ ! เราไม่พยายามทำกะพวกเธอ อย่างทะนุถนอม
เหมือนพวกช่างหม้อ ทำแก่หม้อ ที่ยังเปียก ยังดิบอยู่
อานนท์ ! เราจักขนาบแล้ว ขนาบอีก ไม่มีหยุด
อานนท์ ! เราจักชี้โทษแล้ว ชี้โทษอีก ไม่มีหยุด
ผู้ใดมีมรรคผลเป็นแก่นสาร ผู้นั้นจักทนอยู่ได้.
อุปริ. ม. ๑๔/๒๔๕/๓๕๖.

คนเรา ควรมองผู้มีปัญญาใด ๆ ที่คอยชี้โทษ คอยกล่าว
คำขนาบอยู่เสมอไป ว่าคนนั้นแหละ คือ ผู้ชี้ขุมทรัพย์
ควรคบบัณฑิตที่เป็นเช่นนั้น
เมื่อคบหากับบัณฑิตชนิดนั้นอยู่
ย่อมมีแต่ดีท่าเดียว ไม่มีเลวเลย.
ธ. ขุ. ๒๕/๒๕/๑๖.

งูเปื้อนคูถ

งูเปื้อนคูถ


ภิกษุ ท. ! นักบวชชนิดไร ที่ทุก ๆ คนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม
ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้ ?

ภิกษุ ท. ! นักบวชบางคนในกรณีนี้ เป็นคนทุศีล มีความเป็นอยู่
เลวทราม ไม่สะอาด มีความประพฤติชนิดที่ตนเองนึกแล้วก็กินแหนงตัวเอง
มีการกระทำที่ต้องปกปิดซ่อนเร้น ไม่ใช่สมณะก็ปฏิญญาว่าเป็นสมณะ ไม่ใช่คน
ประพฤติพรหมจรรย์ก็ปฏิญญาว่าประพฤติพรหมจรรย์ เป็นคนเน่าใน เปียกแฉะ
มีสัญชาติหมักหมมเหมือนบ่อที่เทขยะมูลฝอย. ภิกษุ ท. ! นักบวชชนิดนี้แล
ที่ทุก ๆ คนควรขยะแขยง ไม่ควรสมาคม ไม่ควรคบ ไม่ควรเข้าใกล้. ข้อนั้น
เพราะอะไร ?

ภิกษุ ท. ! เพราะเหตุว่า ถึงแม้ผู้ที่เข้าใกล้ชิด จะไม่ถือเอา
นักบวชชนิดนี้ เป็นตัวอย่างก็ตาม, แต่ว่า เสียงล่ำลืออันเสื่อมเสียจะระบือ
ไปว่า “คนคนนี้ มีมิตรเลว มีเพื่อนทราม มีเกลอลามก” ดังนี้.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือน งูที่ตกลงไปจมอยู่ในหลุมคูถ กัดไม่ได้
ก็จริงแล, แต่มันอาจทำคนที่เข้าไปช่วยยกมันขึ้นจากหลุมคูถให้เปื้อนด้วย
คูถได้ (ด้วยการดิ้นของมัน) นี้ฉันใด๒ ;